เป็นที่ทราบกันดีว่าการขายเบี้ยประกันภัย “เจอจ่ายจบ” กลายเป็นมหากาพย์ครั้งใหญ่ของวงการประกันภัย มีผู้สนใจทำประกันชนิดนี้จำนวนมหาศาล และทำให้บริษัทประกันวินาศภัยที่ขายเบี้ยประกันดังกล่าวไม่สามารถชำระเบี้ยจากได้พิษไวรัสโควิดที่แพร่ระบาดจนมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ต้องปิดตัวไปถึง 4 บริษัท รวมยอดเบี้ยค้างจ่ายไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ก่อนหน้าจะเกิดเคส “เจอจ่ายจบ” ก็มีบริษัทประกันวินาศภัยปิดตัวไป 2 บริษัท ทำให้รวม 6 บริษัทมีเบี้ยค้างจ่ายเกือบ 7 หมื่นล้านบาท โดยมีจำนวนผู้เอาประกันที่จะต้องได้รับการชำระหนี้กว่า 7 แสนคน นั่นคือสิ่งที่ “กองทุนประกันวินาศภัย” ต้องเข้ามารับผิดชอบ
“CE” มีโอกาสสัมภาษณ์ “คุณชนะพล มหาวงษ์” ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 และต้องมาเจอกับ “เผือกร้อน” เล่าถึงแนวทางการบริหารจัดการหนี้ดังกล่าว ทั้งหนี้ที่เกิดจากการทำประกันวินาศภัยทั่วไป และ หนี้กรมธรรม์เจอจ่ายจบ ว่า
“ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารการขอรับชำระหนี้ทั้งจาก 4 บริษัทที่ปิดตัวจากกรณี “เจอจ่ายจบ” และ 2 บริษัทแรกที่ปิดตัวไปก่อนหน้านี้ โดยในเรื่องการชำระหนี้ก็ดำเนินการไปพร้อมกันทุกบริษัท ทั้งกลุ่มเจอจ่ายจบ ซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่เกิดจากการซื้อประกันโควิดล้วนๆ และกรมธรรม์นอนโควิด ซึ่งเราไม่เลือกปฏิบัติ ดำเนินการตามลำดับการทวงหนี้ ใช้พนักงานประมาณ 100 คน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการชำระหนี้ โดยจำนวนหนี้ที่ขอกันเข้ามา ประมาณ 7 หมื่นกว่าล้าน จากจำนวนเจ้าหนี้เกือบ 7 แสนราย ทำให้เราต้องบริหารหนี้เป็นปีๆ”
เมื่อถามว่า จำนวนหนี้มหาศาล 7 หมื่นล้าน และเจ้าหนี้เกือบ 7 แสนราย จะต้องใช้เวลากี่ปีจึงจะชำระได้ทั้งหมด ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัยตอบว่า
“ปัจจุบันกองทุนฯมีรายได้ประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี เป็นเงินที่เก็บจากบริษัทประกันวินาศภัย 0.25% ของเบี้ยประกันวินาศภัย แต่ประเด็นคือเรามีหนี้ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท บางคนก็เอาไปคำนวณแล้ววิเคราะห์ว่ากว่าจะจ่ายหนี้หมดต้องใช้เวลา 40-50 ปี ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราชำระหนี้แบบนั้นจริง ประชาชนคงรับไม่ได้ ในความคิดของผมจะพยายามหาวิธีชำระหนี้ทั้งหมดให้เสร็จภายใน 4-5 ปี”
ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย ยังอธิบายถึงสาเหตุที่กองทุนประกันวินาศภัยต้องเข้ามารับผิดชอบหนี้จำนวนมหาศาลว่า ก่อนหน้านี้กองทุนประกันวินาศภัยและกองทุนประกันชีวิต เป็นหน่วยงานในสังกัดของกรมการประกันภัย หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในปัจจุบัน เรียกว่า “กองทุนพัฒนาธุรกิจประกันชีวิต ประกันวินาศภัย” ต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เนื่องจากรัฐบาลมองว่าธุรกิจประกันภัยไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัย น่าจะมีหลักประกันให้กับประชาชนผู้ซื้อกรมธรรม์ เหมือนกับสถาบันประกันเงินฝาก เพื่อสร้างความเชื่อถือ ความศรัทธา ความมั่นคงต่อประชาชนที่ทำประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงในอนาคต จึงได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทั้งกองทุนประกันชีวิต และ กองทุนประกันวินาศภัย แยกออกมาเป็นนิติบุคค โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ภารกิจใหญ่คือ 1.เป็นผู้ชำระบัญชีกรณีบริษัทประกันถูกเพิกถอนใบอนุญาต 2.คุ้มครองเจ้าหนี้ ด้วยการชำระหนี้ให้ประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้จากสัญญาประกันภัยของบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต (รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท รวมทุกกรมธรรม์ต่อ 1 ราย) และ 3.พัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มีความมั่นคง มีเสถียรภาพ ด้วยการให้ความรู้และความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการทำประกันภัย
“ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเกิดปัญหา จนกระทั่ง 4 บริษัทประกันวินาศภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตเนื่องจากมีหนี้ค้างจำนวนมากจากกรมธรรม์เจอจ่ายจบ รวมกับ 2 บริษัทที่ปิดไปก่อนหน้า เมื่อบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาต กองทุนฯก็มีภารกิจต้องเข้าไปรับผิดชอบหนี้ 7 หมื่นล้าน ต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่กองทุนฯจาก 10 กว่าคน เป็น 30 กว่าคน รวมถึงจ้างบุคคลภายนอกมาช่วยปฏิบัติงาน เชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ชำระสะสางรวบรวมทรัพย์สินของบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เพื่อนำมาชำระหนี้ให้กับประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้ โดยเฉพาะเจ้าหนี้จากกรมธรรม์โควิดส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้ระดับฐานราก เขามีความเดือดร้อนและต้องการเงินไปใช้จ่าย จึงติดตามทวงถาม ก็จะเป็นหน้าที่ของกองทุนฯที่จะต้องทำความเข้าใจว่าเราจะเร่งรัดดำเนินการอย่างไร ใช้เวลาเท่าไหร่ ถือเป็นงานที่หนักและสำคัญมาก”
อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนหนี้มหาศาล 7 หมื่นล้าน ทรัพย์สินของกองทุนฯคงไม่เพียงพอในการชำระหนี้ กองทุนฯจะหาแหล่งเงินจากไหนมาเคลียร์จนจบ
“สำหรับปีนี้ เหลือเวลาอีก 5 เดือน น่าจะจ่ายได้ประมาณ 3 พันกว่าล้าน ส่วนในปี 2566 จะต้องวางแผนในการหาเงินเข้ามาทยอยชำระหนี้ให้กับประชาชน โดยบอร์ดบริหารกองทุนฯได้ออกระเบียบในเรื่องของการรองรับการกู้เงินและในเรื่องของการออกตราสาร เพื่อให้มีที่มาของแหล่งเงิน รวมถึงเดือนหน้าทางกองทุนฯจะเสนอบอร์ดบริหารให้ปรับอัตราการส่งเงินสมทบกองทุนฯของบริษัทประกันวินาศภัย เพิ่มขึ้นตามที่กฎหมายกำหนดคือ 0.5% เพิ่มรายได้จาก 600 กว่าล้านเป็น 1,200-1,300 ล้านบาท ขณะที่กฎหมายมาตรา 80 ก็เปิดช่องให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ อันนี้ก็เตรียมที่จะไปหารือกับสำนักงบประมาณด้วยเหมือนกันว่าทำอย่างไรให้มีเงินมาจ่ายให้กับประชาชนครบทั้งหมด”
ส่วนในเรื่องลำดับการชำระหนี้ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัยยืนยันว่า อย่าได้กังวล เพราะไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยจะชำระตามลำดับ ซึ่งมี 3 ช่องทางในการขอรับชำระหนี้คือ 1.ยื่นที่กองทุนประกันวินาศภัย 2.ยื่นที่สำนักงาน คปภ.ทั่วประเทศ 3.ยื่นผ่านระบบออนไลน์ เมื่อคำร้องต่างๆถูกบันทึกลงระบบ วันที่ยื่นจะเป็นวันที่ถูกรันในการชำระหนี้
“ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป กองทุนฯมีภารกิจที่จะต้องไปหาเงินมาชำระหนี้ ในความคิดผม ถ้ามีแหล่งเงินที่ชัดเจน คิดว่า 4-5 ปีก็น่าจะคลี่คลาย ประชาชนได้รับเงินทุกคน ซึ่งการจ่ายเงินของกองทุนฯเป็นการจ่ายเงินของรัฐ เพราะฉะนั้นทุกเรื่อง ทุกคำขอจะต้องได้รับการตรวจสอบเอกสาร หลักฐานให้ถูกต้อง รัดกุม เป็นไปตามกระบวนการ” ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย กล่าวปิดท้าย