กองทุนประกันชีวิต ปิ๊ง!ไอเดีย เปลี่ยนเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความเป็นเบี้ยประกันใหม่

548

ด้วยภารกิจของ “กองทุนประกันชีวิต” (กปช.) มีหน้าที่สำคัญคือการคุ้มครองเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชาระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย กรณีบริษัทประกันชีวิต ถูกเพิกถอนใบอนุญาต (สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อรายผู้เอาประกัน) และพัฒนาธุรกิจประกันชีวิต ให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ ด้วยการเสริมสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ และความมั่นใจแก่ประชาชนทั่วไป ในสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับอย่างถูกต้องและครบถ้วนจากการทำประกันชีวิต

อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของกองทุนประกันชีวิตคือ การคือการดูแลรักษาและติดตามคืนเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ ให้กับผู้เอาประกัน

นายนพพล เบี้ยวไข่มุข ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต กล่าวว่า เงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความคือเงินที่ผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ หรือทายาทของผู้เอาประกันภัย มีสิทธิได้รับตามกรมธรรม์ แต่ไม่ได้เรียกร้องหรือขอรับคืนจากบริษัทฯ จนล่วงพ้นไป 10 ปี กฎหมายกำหนดให้บริษัทประกันชีวิตต้องนำส่งเงินดังกล่าวเข้ากองทุนประกันชีวิต ผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับผลประโยชน์ หรือทายาทแล้วแต่กรณี สามารถขอรับเงินคืนจากกองทุนประกันชีวิตได้ภายในระยะเวลาอีก 10 ปีนับแต่วันที่กองทุนฯ ได้รับเงินนำส่งจากบริษัทฯ  ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิของตนผ่านเว็บไซต์กองทุนประกันชีวิต www.lifeif.or.th หากพบว่าตนมีสิทธิในเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ ก็สามารถยื่นเอกสารคำขอรับเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ พร้อมแนบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องส่งมาทางไปรษณีย์ หรือยื่นคำขอรับเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความผ่านทางเว็บไซต์กองทุนประกันชีวิต เมื่อได้รับคำขอแล้วกองทุนฯ จะดำเนินการตรวจสอบและอนุมัติจ่ายเงินคืนให้ ด้วยการโอนเงินผ่านช่องทางธนาคารต่อไป ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะได้รับการบริการที่สะดวกรวดเร็ว อันเป็นเจตนารมณ์ของกองทุนฯ

ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ เนื่องจากบางคนซื้อประกันเพราะเกรงใจ ซื้อเพราะเป็นญาติ เป็นเพื่อน ไม่ได้บอกคนในครอบครัว ซื้อแล้วลืม ขาดการติดต่อกับบริษัทประกันชีวิตที่ทำประกันไว้ จนเวลาล่วงเลยมาเกิน 10 ปี บริษัทประกันชีวิตจึงนำส่งเงินดังกล่าวมาที่กองทุนประกันชีวิต รอให้ผู้รับผลประโยชน์หรือทายาทแล้วแต่กรณีมาขอรับเงินคืนจากกองทุนประกันชีวิตได้ภายในระยะเวลาอีก 10 ปีนับแต่วันที่กองทุนฯ ได้รับเงินนำส่งจากบริษัทฯ  ซึ่งเป็นหน้าที่ของกองทุนที่จะต้องเข้าไปชำระบัญชีในการที่จะติดตามคืนเงินให้กับเจ้าของกรมธรรม์ที่เคยทำประกันไว้” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าว

ปัจจุบัน  (30 มิถุนายน 2565) มีจำนวนเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความสะสมอยู่ในกองทุนประมาณ 1,750 ล้านบาท จากจำนวนผู้เอาประกันภัยที่มีสิทธิ 1.5 ล้านราย โดยมีคนมารับคืนเพียง 1 หมื่นคน คิดเป็นแค่ 1% เท่านั้น ซึ่งต้องตามหาเจ้าของเงินผู้ทำประกันที่ยังไม่มารับคืนอีก 99% เพื่อมารับเงินคืน

“อายุเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความคือ 10+10 หมายความว่าเงินที่ผู้ซื้อกรมธรรม์เคยนำส่งไประยะเวลาหนึ่ง แต่ต่อมาได้หยุดส่งด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ และบริษัทประกันชีวิตไม่สามารถติดต่อได้ เงินจำนวนนี้จะเก็บไว้กับบริษัทประกันชีวิต 10 ปี หลังพ้นกำหนด 10 ปีเรียกว่าเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ โดยจะส่งมาเก็บไว้ที่กองทุนฯอีก 10 ปีเพื่อตามหาเจ้าของกรมธรรม์มารับเงินคืน” ผู้จัดการกองทุนฯกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต มองว่า นอกเหนือจากการคืนเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความให้กับเจ้าของเงินหรือทายาทแล้ว การเปลี่ยนเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความเป็นความคุ้มครองเพิ่มหรือเป็นกรมธรรม์ใหม่ ก็จะสร้างประโยชน์กับผู้ที่เคยซื้อกรมธรรม์ไว้ เนื่องจากการทำประกันชีวิตถือว่ามีความจำเป็นของทุกคน เพราะเป็นความคุ้มครองความเสี่ยงหลายรูปแบบ ขณะที่เงินซึ่งเขาเคยนำส่งไว้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการต่อยอดได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่

“ผมมีแนวคิดอยากจะเปลี่ยนเงินกรมธรรม์ของผู้เอาประกันที่เคยส่งไว้ระยะหนึ่งแล้วหยุดส่ง ไม่ว่าจะเป็นก่อนล่วงพ้นอายุความ (เงินกรมธรรม์ฯยังไม่ได้ส่งมาเก็บไว้ที่กองทุนฯ) หรือหลังล่วงพ้นอายุความ (พ้น 10 ปีและเงินถูกส่งมาเก็บไว้ที่กองทุนฯ) ให้เป็นเบี้ยประกันรายใหม่ ซึ่งทำได้ไม่ยาก โดยเฉพาะกรมธรรม์ที่ยังไม่พ้นอายุ 10 ปี ถ้าบริษัทประกันชีวิตสามารถตามลูกค้าของตัวเองได้ ซึ่งเขารายชื่อลูกค้าอยู่แล้ว เขารู้ว่าใครหยุดส่งเงินกรมธรรม์ ก็ส่งตัวแทนไปติดตามหา ไปพูดคุย เอาผลประโยชน์ไปคืนให้ลูกค้า พอเช็คแล้วว่าเจ้าของกรมธรรม์นั้นถูกต้อง ลูกค้าอาจจะไม่ต้องการรับเงินคืนก็ได้ เพราะเขาอาจจะไม่เดือดร้อน ก็เปลี่ยนเงินตรงนี้เป็นความคุ้มครองเพิ่ม เป็นกรมธรรม์ใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ซื้อกรมธรรม์และบริษัทประกันชีวิต หรือถ้าอายุกรมธรรม์เกิน 10 ปี เงินถูกส่งมาที่กองทุนฯ ตัวแทนก็สามารถมาขอรายละเอียดจากเราได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราพยายามคุยกับตัวแทนบ้างแล้ว ขั้นต่อไปคือจะคุยกับบริษัทประกันชีวิตทั้ง 21 บริษัทว่าเขาเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ไหม” ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต กล่าวปิดท้าย