เมื่อเร็วๆนี้การจัดงานเวที HK Innovation Challenge @UTCC 2019 ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้จัดการแข่งขันประลองความคิดนวัตกรรมทางธุรกิจชิงทุนทางการศึกษากว่า 100,000 บาท เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดกระบวนการคิดและวิจัยโครงการสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1-2 ทุกคนของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมุ่งหวังที่จะสร้างแนวคิด (Mindset) ทางผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมให้แก่นักศึกษาเพื่อนำไปต่อยอดในการเรียน ทำธุรกิจหรือสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเหลือรับผิดชอบต่อสังคมในระดับต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้มีการลงมือทำจริง ซึ่งนักศึกษาจะต้องคิดหาไอเดียทางธุรกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาหรือเข้าใจถึงผู้ที่ได้รับปัญหาซึ่งจะเป็นลูกค้าของธุรกิจในอนาคต ตั้งแต่การทำการสอบถามลูกค้า กระทั่งสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการขึ้นมา
ผลิตภัณฑ์ “กรรไกรตัดผลไม้” ทีม God of Immortal เจ้าของรางวัล “Finalist” ของนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คิดค้นประดิษฐ์กรรไกรตัดผลไม้ สามารถใช้งานได้กับผลไม้ที่มีเปลือกบาง ความสูงของต้นไม่สูงมากนัก ป้องกันการช้ำง่ายของผลไม้ที่เกิดจากการเก็บเกี่ยว เช่น มะม่วง มะยงชิด มะปราง มังคุด มะเฟือง เป็นต้น คุณสมบัติพิเศษของตัวกรรไกรตัดผลไม้มีตัวสวิงหรือตัวถุงที่ช่วยรองรับผลไม้ ทำให้ผลไม้ตกลงมาอยู่ในถุงหลังจากการถูกตัดทันที นอกจากผลไม้ไม่ช้ำแล้ว ยังสามารถช่วยประหยัดเวลาในการเก็บผลไม้ที่ร่วงหล่นลงบนพื้นด้วย
นางสาวสลารี ระดาบุตร (ไอซ์) ทีม God of Immortal เล่าว่า “จุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์กรรไกรตัดผลไม้ ทางทีมเลือกที่จะสร้างผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นมาช่วยในการเก็บเกี่ยวผลไม้ ซึ่งคุณสมบัติพิเศษคือจะไม่ทำให้ตัวผลไม้นั้นช้ำเมื่อรับแรงกระแทกต่างๆ ทางทีมเริ่มเก็บข้อมูลก่อนผลิตผลิตภัณฑ์ขึ้นมา ลองศึกษาหาข้อมูลเชิงลึกในพื้นที่เขตดินแดงและสวนผลไม้จังหวัดนครนายก สาเหตุที่เลือกสวนที่จังหวัดนครนายกเพราะมีสวนผลไม้ที่เป็นเป้าหมายของการผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว คือ มะม่วง มะยงชิด ฯลฯ โดยการเก็บข้อมูลมีการนำผลิตภัณฑ์จริงไปให้เกษตรได้ทดลองใช้จริงและสัมภาษณ์ภายหลังจากการใช้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเราผลิตออกมาขายจะสามารถตอบโจทย์ได้หรือไม่ ผลตอบรับที่ได้คือเกษตรกรชาวสวนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก”
นายสิโรเวฐณ์ มังคละรัตน์ (บิว)และ นายวสันต์ สงวนสุข (บอส) ทีม God of Immortal กล่าวว่า “ในการผลิตกรรไกรตัดผลไม้ทางทีมทดลองทำ 3 ครั้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งแรกที่ทำคือสวิงไม่สามารถล็อคได้ เราจึงแก้ไขปัญหาโดยการใส่น็อตลงไปเพื่อช่วยในการทำงาน ส่วนกรรไกรอาจจะมีการหันไม่ถูกด้าน ขนาดของด้ามจับนั้นมีขนาดที่ยาวเกินไปหรืออาจจะสั้นเกินไป รวมไปถึงเชือกที่ใช้ในการดึงซึ่งตอนแรกเราใช้เชือกที่มีความยืดหยุ่นสูงพอทำให้ไม่เกิดแรงกระชาก ทางทีมก็ต้องเปลี่ยนเป็นเชือกที่ไม่มีความยืดหยุ่นเพื่อมีแรงกระชากที่ดีกว่า สำหรับแผนในอนาคตเราอยากทำตัวสวิงให้มีขนาดใหญ่ขึ้น รองรับน้ำหนักได้มากกว่าเดิม ประยุกต์ต่อยอดทางธุรกิจ ใช้สนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงไร่สวนการเกษตรสำหรับผู้ที่เข้ามาชมสวนผลไม้จะได้รับถุงผ้า 1 ใบ ผลิตภัณฑ์ของเรา 1 อัน เพื่อที่จะใช้ผลิตภัณฑ์นี้ไปตัดผลไม้ภายในสวน พอตัดแล้วผลไม้มันจะตกเข้าไปในถุงที่เราทำไว้ พอเต็มแล้วก็สามารถรูดเก็บไว้แล้วนำกลับบ้านได้เลย เป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกร เพราะประเทศไทยมีเกษตรกรที่เยอะมาก ที่สำคัญช่วยส่งเสริมและสร้างรายได้ให้กับชาวสวน”