กกต.สำรวจใจคนท้องถิ่น 80%ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอบต.

651

หลังจากว่างเว้นการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับตำบลมาประมาณ 8 ปี  คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล(ส.อบต.) ของอบต. 76 จังหวัดทั่วประเทศ 5,300 แห่ง พร้อมกันในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564

              เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ณ ห้องแถลงข่าว กกต. ศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต.  นางสาวสุรณี ผลทวี ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง กกต.นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ ผู้อำนวยการ อปท.นิวส์โพล  รศ.ดร.ธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการและผู้แทนหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 11 (พตส.11) ได้ร่วมแถลงข่าวผลการสำรวจการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้งอบต. เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงการรณรงค์เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นก่อนจะถึงวันเลือกตั้งในปลายเดือนนี้

              รศ.ดร.ธนสุวิทย์ เปิดเผยว่าได้ทำการสำรวจภายใต้หัวข้อ “ถามใจคนท้องถิ่นใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต.”ระหว่างวันที่ 19-25 ตุลาคม 2564  โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 5 ภาคๆละ 3 จังหวัด  จากข้อมูลผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งอบต.ครั้งหลังสุด  ดังนี้ ภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ลำปาง กำแพงเพชร  ภาคกลางและปริมณฑล จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ  ภาคกลางและตะวันออก  จังหวัดสระบุรี ลพบุรี ชลบุรี  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดมหาสารคาม  ยโสธร  อุดรธานี  และภาคใต้ จังหวัดชุมพร สงขลา ประจวบคีรีขันธ์  รวม 15 จังหวัดๆละ 150 ราย  รวมเป้าหมายขั้นต่ำ 2,250 ราย  แต่ทีมงานได้เก็บข้อมูลทั้งสิ้น 2,756 คน

              จากการรวบรวมข้อมูลในแบบสอบถามทั้งหมดแล้วสามารถสรุปและอภิปรายผลได้ดังต่อไปนี้คือ ด้านภูมิหลังของผู้ตอบแบบสอบถาม  ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 67 เพศชายร้อยละ 33  กลุ่มใหญ่สุดของผู้ตอบแบบสอบถามอายุ 36-45 ปี คิดเป็นร้อยละ 27  รองลงมาอายุ 26-35ปี คิดเป็นร้อยละ 23  ถัดมาอายุ 46-55 ปี คิดเป็นร้อยละ21  กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่อายุ 18-25 ปีที่มีสิทธิเลือกตั้ง อบต.ครั้งแรก คิดเป็นร้อยละ 17  กลุ่มอายุ 56-65 ปี คิดเป็นร้อยละ 10 และกลุ่มผู้สูงวัย อายุ 66 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 2

              ด้านการศึกษา ส่วนใหญ่ร้อยละ 38 จบปริญญาตรี  รองลงมาร้อยละ 26 จบมัธยมศึกษาและปวช.  ร้อยละ 19 จบปวส.และอนุปริญญา  ร้อยละ 14 จบชั้นประถมศึกษา  ด้านอาชีพการงาน  ส่วนใหญ่ร้อยละ 26 รับจ้าง  ร้อยละ 20 ค้าขาย  ร้อยละ 17 เป็นเกษตรกร  ร้อยละ 15 เป็นพนักงานภาคเอกชน ร้อยละ 11 ยังเป็นนักศึกษา  มีว่างงานอยู่ร้อยละ 3

              ภูมิหลังด้านรายได้ต่อเดือน  ร้อยละ 30 อยู่อยู่ในเกณฑ์ 5,000 – 10,000 บาท  ร้อยละ26 อยู่ในระดับ 10,001-15,000 บาท  ร้อยละ18 ไม่เกิน 5,000 บาท  ร้อยละ16 อยู่ในระดับ 15,001-20,000 บาท  และร้อยละ 10 มีรายได้ 20,001 บาทขึ้นไป  โดยร้อยละ 54 ของผู้ตอบแบบสอบถามสมรสแล้ว  ร้อยละ 42 โสด ที่เหลือ ร้อยละ 4 หย่าร้างหรือเป็นหม้าย

              จากกลุ่มตัวอย่าง 2,756 คน  น่ายินดีที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 86 ทราบแล้วว่าจะมีการเลือกตั้ง อบต.วันไหน  มีเพียงร้อยละ 14 ที่บอกว่าไม่ทราบ

              ในการรับรู้ข่าวสารการเลือกตั้ง อบต.ดังกล่าว ส่วนใหญ่ทราบจากสื่อสังคมออนไลน์  รองลงมาคือป้ายประชาสัมพันธ์เชิญชวนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  อันดับ 3 คือรู้จากผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่อบต.ซึ่งใกล้เคียงกับที่รู้จักรถแห่ประชาสัมพันธ์ของผู้สมัคร   ขณะที่ตัวผู้สมัครก็มีส่วนการในการสร้างการรับรู้  เช่นเดียวกับหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน  โดยมีข้อสังเกตุว่าการรับรู้จากสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ เคเบิ้ลทีวี แม้แต่โทรทัศน์ อยู่ในระดับต่ำกว่ามาก

              เมื่อถามว่าการเลือกตั้ง อบต.ทำให้นึกถึงเรื่องใดมากที่สุด  ร้อยละ50 ตอบว่า การพัฒนาท้องถิ่น  รองลงมาร้อยละ 26 นึกถึงประชาธิปไตย  และร้อยละ 25 นึกถึงสิทธิของคนในท้องถิ่น

              ถามว่า อบต.มีผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของท่านหรือไม่  ร้อยละ 58 ตอบว่ามีผล  ร้อยละ26 ตอบว่าไม่แน่ใจ และร้อยละ16 ตอบว่าไม่มีผล

              ถามว่า ท่านเชื่อว่าการเลือกตั้งอบต.ครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความสุจริต ยุติธรรม โปร่งใหรือไม่  ร้อยละ 50 ตอบว่าไม่แน่ใจ  ร้อยละ 31 เชื่อมั่น  ร้อยละ 19 ตอบว่าไม่เชื่อมั่น

              ต่อคำถามสำคัญว่าท่านจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต.ในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้หรือไม่  ส่วนใหญ่ร้อยละ 53 ตอบว่าไปแน่นอน  รองลงมาร้อยละ 27 คิดว่าจะไป  ซึ่งรวมสองกลุ่มนี้สูงถึงร้อยละ 80  ที่เหลือร้อยละ 17 ยังไม่แน่ใจ และร้อยละ 3 บอกว่าไม่ไป

              ปัจจัยที่จะมีผลต่อการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต.  ส่วนใหญ่ร้อยละ 51 ระบุว่าโควิด-19  รองลงมาร้อยละ 17 ตอบว่าความสะดวกในการเดินทาง  ร้อยละ 12 มีสองกลุ่มคือฝนฟ้าอากาศ และผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่เหลือร้อยละ 8 คือค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

              ถามว่าท่านคิดว่าปัจจัยใดจะส่งผลต่อการเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้  ส่วนใหญ่ร้อยละ 34 ตอบว่านโยบายการหาเสียง  รองลงมาร้อยละ 27 คือคุณสมบัตรของผู้สมัคร  ร้อยละ 20 คือวิธีการและกลยุทธ์ในการหาเสียง  ร้อยละ 12 ระบุว่าอิทธิพลของนักการเมือง และร้อยละ 7 บอกว่าเงินที่ใช้หาเสียง

              เมื่อถามว่าท่านเคยพบปะพูดคุยกับอดีตนายก อบต หรือสมาชิกอบต.เพื่อเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาท้องถิ่นไหม  ร้อยละ 61 บอกว่าไม่เคย  ร้อยละ 39 บอกว่าเคย

              สองข้อสุดท้ายเป็นส่วนที่ กกต.เจาะจงอยากทราบโดยถามว่า  ทราบหรือไม่ว่าสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งจากแอปพลิเคชั่น Smart Vote ร้อยละ 67 ตอบว่าไม่ทราบ  ร้อยละ 33 ตอบว่าทราบ  ส่วนแอปพลิเคชั่น “ตาสับปะรด” ที่สามารถแจ้งข้อมูลการทุจริตผิดกฎหมายเลือกตั้ง  ร้อยละ 62 ตอบว่าไม่ทราบ  ร้อยละ 38 ตอบว่าทราบ

              รศ.ดรธนสุวิทย์ ได้ยกตัวอย่างการสำรวจที่จังหวัดสมุทรสาครซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถาม 193 คนว่า  ออกมาในทิศทางเดียวกันกับภาพรวมทั้งประเทศ  คือร้อยละ 64 ทราบว่ามีการเลือกตั้ง อบต.  จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งแน่นอนร้อยละ 43 คิดว่าจะไปร้อยละ 29  โดยปัจจัยที่จะมีผลต่อการไปใช้สิทธิคือ โควิด-19 ร้อยละ 33 ความสะดวกในการเดินทางร้อยละ 27 และฝนฟ้าอากาศ ร้อยละ 18