แผ่นรองกันมด Antpad นวัตกรรมปลอดภัย ไร้สารเคมี

3592

มดตัวน้อยตัวนิดเพียงตัวสองตัว อาจพอทำใจได้ แต่หากมันพาพรรคพวกมาเป็นกองทัพมด เดินขวักไขว่กันเป็นทิวแถว เพื่อไต่ตอมอาหารคาวหวานไปรอบบ้าน แบบนี้ก็คงไม่ไหว เป็นใครก็ย่อมต้องหาวิธีป้องกันหรือไม่ก็กำจัดให้สิ้นเรื่องสิ้นราว

หลายคนเจอเรื่องมดรังควานมากบ้าง น้อยบ้าง ไม่ต่างจาก ศีรวิชญ์ บุญซื่อ ที่ให้ข้อมูลการคิดค้น แผ่นรองกันมด Antpad นอกจากจะแก้ปัญหาที่ว่าได้อย่างถาวรแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไร้สารเคมีเจือปน ปลอดภัยต่อผู้ใช้ แถมไม่เบียดเบียนมดอีกต่างหาก ส่งผลให้ Antpad ได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นมาแล้วหลายเวที

หลักคิด

เดิมทีเขาเองก็ใช้วิธีป้องกันมดเหมือนกับคนทั่วไป ทั้งการใช้ชอล์กไล่มด หรือไม่ก็ฉีดยาฆ่าแมลง แบบแรกใช้ชอล์กก็ทำให้ผนัง กำแพง วัสดุ เฟอร์นิเจอร์ เกิดรอยขีดข่วน  ส่วนอีกแบบก็ได้รับสารเคมีไปเต็มๆ ที่สำคัญทั้งสองวิธีนี้จะป้องกันมดได้ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ไม่เกิน 1-2 เดือน เจ้ามดตัวแสบก็เริ่มกลับมาให้เห็นเหมือนเดิม

“เริ่มแรกก็เพื่อแก้ปัญหาตัวเอง เพราะรำคาญมดที่ชอบมาไต่ตามถังขยะ หรือเวลาทิ้งอาหารไว้ข้ามคืน ตื่นเช้าก็จะพบว่ามดมันจะมาจากไหนไม่รู้เต็มไปหมด บังเอิญว่าผมมีพื้นฐานเรียนจบมาจากสายวิทย์ฯ ก็เลยไปค้นคว้าหาสาเหตุเพิ่มเติม จากการอ่านหนังสือบ้าง เสิร์ซทางอินเตอร์เน็ตบ้าง จึงเข้าใจในพฤติกรรมของมัน และวิธีป้องกันอย่างได้ผล โดยไม่ต้องใช้สารเคมี”

ศีรวิทย์ ใช้เวลาศึกษา ลองผิดลองถูก พัฒนาผลิตภัณฑ์ราว 6 เดือน ควบคู่กับการไปขอคำแนะนำจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้คำอธิบายมาว่า หลักการที่เขาค้นพบใกล้เคียงกับภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่จะใช้น้ำมันก๊าดหรือน้ำมันเครื่องชุบผ้าให้เปียกหมาดๆ แล้วนำไปพันรอบขาโต๊ะ เก้าอี้ หรือตู้กับข้าว แล้วมดจะไม่กล้ามาตอแย

แต่สำหรับวิธีที่เขาใช้ จะเป็นการใช้สารพิเศษ  บางตัวก็มีการนำไปใช้ในเครื่องสำอาง ไร้กลิ่น ไร้สี และปลอดสารเคมี 100% โดยจะนำไปเคลือบไว้ด้านในแผ่นรองกันมด โดยมีพลาสติก ABS ปิดทับไว้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะทำให้พื้นผิวเหนอะหนะยากต่อการเดินของมด เพราะมันจะรู้สึกไม่สบายตัวเมื่อเดินผ่านเข้ามาในบริเวณแผ่นรองกันมดนี้  ซึ่งมีอายุการใช้งาน 2-3 ปี

ใช้งานง่าย ดีไซน์เด่น

เมื่อประดิษฐ์คิดค้นแล้วเสร็จประมาณปี 2558 เขานำผลิตภัณฑ์ไปจดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่เรียบร้อย   เพื่อป้องกันการก็อปปี้หรือสินค้าเลียนแบบ ทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ยังเท่ากับได้ปกป้องนวัตกรรมของคนไทย อันเป็นหนึ่งในสมบัติทางปัญญาของชาติอีกทางหนึ่ง

ส่วนการออกแบบผลิตภัณฑ์  Antpad จะคำนึงถึงประโยชน์ในการใช้สอยเป็นสำคัญ ใช้งานง่าย รูปแบบ สีสันสวยงาม โดยมี 3 แบบให้เลือก 1) แผ่นรองกันมด 2) แบบถาดรอง และ 3) แบบเซรามิค ใส่ลูกเล่นการดีไซน์ให้เป็นแผ่นจิ๊กซอร์ ทรงเหลี่ยม ทรงกลม บนเนื้อวัสดุ 2 ชนิด คือ พลาสติกและเซรามิค

ผู้ประกอบการใหม่รายนี้ บอกอีกว่า แรงบันดาลใจในการเลือกใช้สีสันให้สดใส มีชีวิตชีวา ก็มาจากตัวการ์ตูนต่างๆจากต่างประเทศ ทั้งสีฟ้า เหลือง ชมพู ดำ ขาว และแดง แต่ละแผ่นมีขนาดกว้างคูณยาว 15 X 15 cm. ความหนา 2 cm.  โดยทุกสีทุกแบบราคาจำหน่ายเท่ากัน 1 ชิ้น 280 บาท 2 ชิ้น 500 บาท และ 4 ชิ้น 1,000 บาท

กลุ่มเป้าหมาย

แรกเริ่มเขาโฟกัสไปที่ กลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมและกลุ่มคนรักสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอนี้ ถือว่าช่วยให้ไม่ต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม น่าจะเหมาะต่อกลุ่มเป้าหมายทั้งสอง แต่ในทางปฏิบัติกลับกลายเป็นว่า Antpad ดูจะตอบสนองได้ตรงกับความต้องการของผู้คนในวงกว้าง

“พ่อบ้าน แม่บ้าน เป็นกลุ่มลูกค้าหลัก เพราะจะนำไปป้องกันมดในครัวหรือบนโต๊ะอาหาร อีกกลุ่มจะเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ สุนัขและแมว ที่จะนำแผ่นกันมดไปรองไว้ใต้ที่วางอาหารของสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนทำงาน คนรุ่นใหม่ ที่ชอบในดีไซน์และสีสันที่สวยงาม คล้ายกับการเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็กๆประดับบนโต๊ะทำงานของพวกเค้าอีกชิ้นหนึ่ง” ศีรวิชญ์ ว่า

ทิศทางอนาคต

ระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา การตอบรับต่อ Antpad เป็นไปในทิศทางที่ดี มียอดขายประมาณ 3,000-4,000 ชิ้น/ปี การเติบโตเฉลี่ย 15-20% ในทุกปี

โดยการนำเสนอขายจะผ่าน 2 ช่องทางหลัก คือ ผ่านตัวแทนจำหน่าย ที่มีอยู่ทั้งหมด 5 ราย อีกช่องทางจะจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ww.dreamleaf.net และ Lazada

แผนงานในปี 2561 เขาบอกว่า จะให้น้ำหนักกับ 3-4 เรื่อง เรื่องแรก การออกบูธแสดงสินค้ากับหน่วยงานภาครัฐ เรื่องต่อมา เพิ่มจำนวนตัวแทนจำหน่ายอย่างน้อยเท่าตัว เรื่องที่สาม ให้ความสำคัญกับการตลาดมากยิ่งขึ้น โดยจะรุกเจาะเข้าไปในธุรกิจร้านอาหารและร้านกาแฟ  และสุดท้าย จะเป็นการขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบอาเซียน

 

ทั้งนี้ ผลจากการสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าข้างต้น ส่งผลให้ Antpad ได้รับรางวัล Asean Plastics Award 2016 รางวัลรองชนะเลิศ Thailand Green Design Awards 2017 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และในวันที่ 8 มีนาคม 2561 จะได้รับอีกหนึ่งรางวัลจากภาคเอกชน คือ รางวัล Seven Innovation Awards

สตาร์ทอัพรายนี้แม้จะเล็กเหมือนมด แต่ก็น่าจะอยู่ในข่าย ซุปเปอร์มดเอ็กซ์  ได้เลยทีเดียว!

ที่มา : www.smemestyle.com