เล่าเรื่อง..อินเดีย VOL.3 กูวาฮาตี เมืองในฝัน by ธราดล ทองเรือง

1129
โดย : ธราดล ทองเรือง อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย

ผมร่วมกิจกรรมจัดงาน อินเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดแฟร์ อยู่ประมาณ 5-6 ปี

ตอนหลังกรมฯไม่มีนโยบายไปร่วม ซึ่งผมก็เห็นด้วย เนื่องจากเราช่วยเขามา 5-6 ปี จนเขาประสบความสำเร็จ ถ้าเราเอาเงินตรงนี้ไปทำเมืองอื่นต่อไป น่าจะเกิดผระโยชน์มากขึ้น เป็นการขยายสินค้าไทยไปในเมืองที่ยังไม่รู้จัก

กูวาฮาตี…คือเมืองที่ผมหมายตา

กูวาฮาตี เมืองนี้ตั้งอยู่ในรัฐอัสสัม

มีการจัดงานแสดงสินค้าเยอะมาก แต่เป็นเมืองที่คนไทยไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าตั้งอยู่ตรงไหน

ซึ่งผมต้องขอบคุณผู้อำนวยการสำนักงานในเวลานั้นที่ช่วยเปิดทางให้ผมทำงานได้อย่างเต็มที่ อำนวยความสะดวกให้หมด แม้จะยังมองไม่เห็นว่าการไปจัดงานแสดงสินค้าในเมืองนี้จะประสบความสำเร็จหรือเปล่า

               สาเหตุที่ผมสนใจเมืองกูวาฮาตีและรัฐอัสสัมเป็นพิเศษเนื่องจากผมเคยอ่านหนังสือของ บุญยงค์ เกิดเทศ เขียนเกี่ยวกับรัฐนากาแลนด์ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับรัฐอัสสัม

การเข้าไปรัฐนากาแลนด์เมื่อกว่า 30 ก่อนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเมืองที่อยู่ในหุบเขา แทบจะเรียกได้ว่าตัดขาดจากโลกภายนอก เผลอๆอาจโดนกฎหมายเล่นงาน

แต่คนเขียนเขากล้าไป

ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจอยากเข้าไปสัมผัสพื้นที่ดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

ภูมิภาคนี้มีทั้งหมด 7 รัฐ เราจึงเรียกว่า

รัฐ 7 สาวน้อย

ประกอบด้วย รัฐอรุณาจัล (ARUNACHAL) รัฐนากาแลนด์ (NAGALAND) รัฐมณีปุระ (MANIPUR) รัฐมิโซรั่ม (MIZORAM) รัฐตริปุระ (TRIPURA) รัฐอัสสัม (ASSAM) และรัฐเมฆกัลยา (MAGHALAYA)

รัฐ 7 สาวน้อยในเวลานั้น ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครสนใจ

นั่นทำให้ผม ยิ่งอยากไป

ประกอบกับพอเราจัดงานที่นิวเดลีโด่งดัง นักธุรกิจจัดงานแสดงสินค้าของอินเดียจากหลายพื้นที่ก็เข้ามาหาเรา ชวนให้ไปร่วมจัดงานโน้นงานนี้

ไม่จัดไม่เป็นไร ไปเที่ยวไปดูก่อนก็ได้ จ่ายค่าเดินทางให้เสร็จสรรพ

หนึ่งในนั้นคือ…ราเกซ ดาสก์

เขาเป็นนักธุรกิจจัดงานแสดงสินค้ากูวาฮาตี เทรดแฟร์

งานแฟร์ที่ใหญ่ที่สุดในกูวาฮาตี

เขาแวะเวียนมาหาผมตลอด 2-3 ปี

พอเขามาขอร้องขอเราบ่อยๆ ในขณะที่เราเองมีความสนใจอยู่แล้ว จึงตัดสินใจเดินทางไป

พร้อมกับชวนเพื่อนไปด้วยคนหนึ่ง  

บอกว่าไปเที่ยว แต่ให้เอาสินค้าไปด้วย

เพื่อนคนนั้นก็ไปหาเพื่อนอีกคนซึ่งมีเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ เครื่องสำอาง

ราเกซให้บูธเราฟรี 2 บูธ

ปรากฏว่าคนมากันมากมาย เพราะเป็นครั้งแรกที่มีสินค้าจากประเทศไทยไปออกบูธ

คนมากันเยอะมาก มาจับมือ ทักทาย ซื้อสินค้าหมดเกลี้ยง

แม้กระทั่งโปสเตอร์ที่ขายเครื่องสำอางยังมีคนขอซื้อ เพราะเป็นโปสเตอร์จากเมืองไทย

เขารู้จักคนไทย แต่ไม่เคยเห็นคนไทย

ปีถัดมาเราเราทำบันทึกขอการสนับสนุนจากส่วนกลาง อธิบายความเป็นไปได้ ขอแค่ค่าพื้นที่กับค่าบูธไม่กี่แสน ให้เท่าไหร่ก็ทำได้หมด  

เนื่องจากลักษณะการจัดงานในยุคนั้นของกูวาฮาตียังธรรมดา

เป็นบูธไม้ไผ่ มีสังกะสี กับ ผ้าเก่าๆมุงหลังคาและผนัง

ด้อยกว่างานวัดบ้านเราอีก

ตอนหลังพอมีบูธประเทศไทยเข้าไปร่วม เขาจึงเปลี่ยนเป็นกูวาฮาตี อินเตอร์เนชั่นแนล

โดยบูธคนไทยเข้าร่วมปีแรก 20 บูธ

ปีที่สอง 50 บูธ

ปีที่สาม 80 บูธ

ทุกอย่างขายได้หมด

เพราะฉะนั้น ถ้าใครเอาของไปขายอินเดียแล้วขายไม่ได้ ต้องกลับมาวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะอะไร

เราทำแบบนี้ทุกปี แล้วก็ขยายออกไปอีก

ไปเมืองชินลอง รัฐเมฆกัลยา

ขยายไปอัปเปอร์ อัสสัม มณีปู้ นากาแลนด์

บางงานเป็นงานประเพณีท้องถิ่น ไม่ใช่งานแสดงสินค้า นำสินค้าไปแค่เล็กๆน้อยๆ พอให้เราสัมผัสถึงโอกาสทางการตลาด

ไปรัฐปันจาบ ราชาสถาน จันดิกา กัลกัตตา

ซึ่งการที่เราไปร่วมกับเขาดีกว่าเราไปจัดเอง เพราะถ้าเราไปจัดเอง ต้นทุนการประชาสัมพันธ์จะสูงมาก และไม่เชี่ยวชาญเท่ากับเขาที่ทำอยู่แล้ว การทำแบบนี้ช่วยประหยัดงบประมาณ..แต่

ได้ผลคุ้มค่า

ธราดล ทองเรือง อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย