อุปกรณ์สวมใส่ไฮเทคทั่วโลกแตะ 81.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

870
ภาพ : อินเตอร์เน็ต

การ์ทเนอร์ อิงค์ คาดการณ์การใช้จ่ายของผู้บริโภคไปกับอุปกรณ์สวมใส่ไฮเทค (Wearable Devices) ทั่วโลกปีนี้จะมีมูลค่ารวม 81.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 18.1% จาก 69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีที่ผ่านมา โดยการทำงานระยะไกลและความใส่ใจตรวจเช็กสุขภาพที่เพิ่มขึ้นของผู้คนช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็น 2 ปัจจัยสำคัญเร่งผลักดันการเติบโตของตลาด

            นายรันจิต อัตวัล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยอาวุโสของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “การแนะนำมาตรการด้านสุขภาพเพื่อเฝ้าติดตามอาการโควิด-19 ด้วยตัวเอง และแนวโน้มความสนใจด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคทั่วโลกช่วงล็อกดาวน์เป็นโอกาสสำคัญของตลาดอุปกรณ์สวมใส่ไฮเทค โดยอุปกรณ์หูฟังและสมาร์ทวอทช์กำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากผู้บริโภคใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในการทำงานระยะไกล, ออกกำลังกาย, ติดตามข้อมูลสุขภาพและอื่น ๆ”

            ในปี 2563 มีการใช้จ่ายไปกับอุปกรณ์หูฟังเพิ่มขึ้น 124% หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 32.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดการณ์ปีนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 39.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ดูตารางที่1) โดยการเติบโตอย่างมหาศาลนี้เกิดจากพนักงานที่ต้องทำงานนอกออฟฟิศอัพเกรดหูฟังเพื่อสื่อสารผ่านวิดีโอคอลและผู้บริโภคซื้อหูฟังเพื่อใช้กับสมาร์ทโฟนของตน

            ตารางที่ 1 มูลค่าการใช้จ่ายอุปกรณ์สวมใส่ของผู้บริโภคทั่วโลกตามประเภทในปี 2562 ถึง 2565 (หน่วย:ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

ประเภทอุปกรณ์     2562     2563     2564      2565
สมาร์ทวอทช์ (Smartwatch)    18,501     21,758     25,827     31,337 
สายนาฬิการัดข้อมือ (Wristband)      5,101       4,987     4,906      4,477 
หูฟัง (Ear-worn)    14,583      32,724   39,220     44,160
จอแสดงผลแบบสวมศีรษะ (Head-mounted display)      2,777       3,414       4,054      4,573 
เสื้อผ้าอัจฉริยะ (Smart clothing)      1,333       1,411       1,529       2,160 
สมาร์ทแพทช์ (Smart patches)      3,900       4,690       5,963       7,150 
มูลค่ารวม    46,194      68,985     81,499    93,858

ที่มา: การ์ทเนอร์ (มกราคม 2564)

            มูลค่าการใช้จ่ายของผู้ใช้สมาร์ทวอทช์ปี 2563 เพิ่มขึ้น 17.6% หรือราว 21.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการเติบโตของสมาร์ทวอทช์ส่วนหนึ่งมาจากผู้ใช้กลุ่มใหม่ ๆ ที่เข้าสู่ตลาด ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2564 เนื่องจากเทคโนโลยีการประมวลผลใหม่และการพัฒนาปรับปรุงแบตเตอรี่แบบโซลิดสเตตซึ่งช่วยเพิ่มอายุการใช้งานให้ยาวนานและชาร์จไวขึ้น

            การ์ทเนอร์เพิ่มอุปกรณ์แผ่นแปะอัจฉริยะหรือสมาร์ทแพทช์ (Smart patches) เข้ามาเป็นหมวดใหม่ เนื่องจากคาดว่าจะเห็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในปี 2564 สมาร์ทแพทช์คือเซ็นเซอร์ตรวจเช็กสุขภาพที่ใช้ติดบนผิวหนังเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิ, อัตราการเต้นของหัวใจ, น้ำตาลในเลือดและข้อมูลสุขภาพที่สำคัญอื่น ๆ ซึ่งให้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเทคโนโลยีอุปกรณ์สวมใส่อื่น ๆ อีกทั้งยังใช้สำหรับการกำหนดการจ่ายยาจากระยะไกลได้อีกด้วย เช่น การให้อินซูลินแก่ผู้ป่วยเบาหวาน

            “สมาร์ทแพทช์ได้รับการคิดค้นขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วแต่นำมาใช้ล่าช้า สาเหตุจากกฏระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดและการต่อต้านทั้งจากผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ในการนำมาใช้สำหรับการให้ยาอัตโนมัติ” นายอัตวัลกล่าว “อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนไปสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ (e-health) โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงความเข้าใจของผู้ใช้เกี่ยวกับการให้บริการด้านสุขภาพอัตโนมัติและเพิ่มความต้องการสมาร์ทแพทช์มากขึ้น”

          นวัตกรรมการตรวจจับหรือเซ็นเซอร์และการย่อขนาดขับเคลื่อนการเติบโตของตลาด

            แรงขับเคลื่อนการเติบโตอุปกรณ์สวมใส่ไฮเทคมีอยู่ในอุปกรณ์หลากหลายหมวด เนื่องจากผู้ผลิตอุปกรณ์มุ่งเน้นปรับปรุงความแม่นยำของเซ็นเซอร์และระยะห่างของประสิทธิภาพระหว่างอุปกรณ์สวมใส่ไฮเทคที่ใช้ทางการแพทย์และที่ใช้ทั่วไปก็ลดลงเรื่อย ๆ

            “ประสิทธิภาพของเซ็นเซอร์แบบฝังอยู่ในอุปกรณ์มักเป็นปัจจัยกำหนดความน่าเชื่อถือและประโยชน์ใช้สอยของอุปกรณ์นั้น ๆ” นายอัตวัลกล่าว “จากแนวทางการพัฒนาปรับปรุงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เซ็นเซอร์ที่ถูกติดตั้งในอุปกรณ์สวมใส่ไฮเทคสามารถอ่านค่าได้แม่นยำมากขึ้น ซึ่งช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า”

            ความก้าวหน้าในการย่อขนาดยังเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลในตลาดอุปกรณ์สวมใส่โดยทำให้ผู้ผลิตสามารถใส่เซ็นเซอร์เข้าไปกับอุปกรณ์โดยผู้ใช้แทบมองไม่เห็น เช่น แหวนอัจฉริยะ (Oura Ring), อุปกรณ์ติดตามสุขภาพร่างกาย (Spire Health Tag) หรือ เวชภัณฑ์ดิจิทัลประกอบด้วยเซ็นเซอร์ที่บริโภคได้ (Proteus Discover) การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าภายในปี 2567 ความสามารถในการย่อขนาดจะก้าวไปสู่จุดที่ 10% ของเทคโนโลยีสวมใส่ทุกประเภทจะไม่สร้างความรำคาญต่อผู้ใช้

            ความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการย่อขนาดและการผนึกรวมจะช่วยให้สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้งานได้มากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อการนำมาปรับใช้ในเสื้อผ้าอัจฉริยะ (Smart garments), อุปกรณ์สวมใส่แบบพิมพ์ติด (Printed wearables), เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ที่กินได้ (Ingestibles), และสมาร์ทแพทช์ (Smart patches) นับจากนี้อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะที่แทบมองไม่เห็นเหล่านี้จะได้รับการยอมรับจากผู้ใช้ที่เคยตะขิตะขวงหรือไม่เต็มใจใช้ เช่น ผู้ป่วยสูงอายุที่ต้องมีการใช้แอปพลิเคชั่นทางการแพทย์ในการดูแลรักษาแต่ไม่ปฏิเสธการรักษาผ่านอุปกรณ์เหล่านั้น” นายอัตวัล กล่าว