คณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ ภายใต้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดแถลงข่าวการดำเนินงานโครงการตลอดปี 2564 และทิศทางการดำเนินงาน ปี 2565 พร้อมกิจกรรมการเสวนาในหัวข้อ “สื่อสร้างสรรค์: Media Transforming in Digital Disruption” โดยดึงสองผู้บริหาร/พิธีกรชื่อดัง และผู้รับทุนของกองทุนฯ “จอห์น นูโว” แท็กทีม “ซี ฉัตรปวีณ์” ร่วมเปิดมุมมองสื่อสร้างสรรค์
ภายในงานแถลงข่าว ในรูปแบบเฟซบุ๊กไลฟ์ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และเพจเฟซบุ๊ก Thairath ในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ธนกร ศรีสุกใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ประธานคณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมด้วย สองผู้บริหาร/พิธีกรชื่อดัง จอห์น นูโว หรือจอห์น รัตนเวโรจน์ ประธานสมาคมเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้เท่ากันดิจิทัลเทคโนโลยี ผู้รับทุนโครงการ Digital Detective และกรรมการผู้จัดการ บริษัท สแพลช อินเตอร์แอ็คทีฟ จำกัด และซี-ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซเชียลแล็บ จำกัด และผู้รับทุนโครงการ iTop เจ้าของฉายา “เจ้าหญิงไอที” โดยได้รับความสนใจจากผู้ชมในห้องส่ง และทางออนไลน์จำนวนมาก
ดร.ธนกร ศรีสุกใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวภายในงานว่า “ปัจจุบัน สื่อมีผลต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนมากขึ้น ขณะที่สื่อที่เหมาะสมกับเยาวชนมีจำนวนน้อย การผลิตสื่อสร้างสรรค์จึงมีข้อจำกัด ทั้งไม่เป็นที่นิยมของผู้ผลิต และขาดผู้สนับสนุน ทำให้ขาดเงินทุนในการผลิตสื่อที่มีคุณภาพ จึงจำเป็นที่จะต้องมีกองทุนในการผลิตสื่อที่มีคุณภาพเผยแพร่ เพื่อสงเสริมการเรียนรู้และพฤติกรรมที่ดีของเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีของครอบครัว และส่งเสริมการมีส่วนของประชาชนในการพัฒนาสื่อ ด้วยเหตุนี้ กองทุนสื่อ จึงได้เริ่มดำเนินงานมา กว่า 4 ปี เพื่อให้ประชาชน เข้าถึง เข้าใจ และฉลาดในการใช้สื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ภายใต้ยุทธศาสตร์สำคัญหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมพัฒนาการผลิตสื่อและเผยแพร่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพ และพัฒนาทักษะสร้างสรรค์ผลงานสื่อให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งการทำงานที่กล่าวมานี้ อยู่ภายใต้การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ”
“ผมขอชื่นชมในความทุ่มเทเสียสละของคณะทำงาน คณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อทุกท่านที่ตระหนักถึงความสำคัญในบทบาทหน้าที่ เพื่อเด็กและเยาวชน ตลอดจนพี่น้องประชาชนจะรู้เท่าทัน และเสพสื่ออย่างปลอดภัย ซึ่งการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ ภายใต้การนำของ รศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ทำงานโดยมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน มีแผนการทำงานเชิงรุก ท่ามกลางปัจจัยที่ส่งผลกระทบรอบด้าน และท้าทายในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ทำให้คนเข้าถึงสื่อได้ง่าย รวดเร็ว และเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา”
“โดยเฉพาะสถานกาณ์ การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เร่งการใช้เทคโนโลยีหรือสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งเราต่างพบว่า มีข้อมูลข่าวสารปลอมปะปนจำนวนมาก จนประชาชนกลั่นกรองได้ยากลำบาก แต่คณะทำงานก็สามารถทำงานภายใต้แรงเสียดทาน จนมีผลงานในภาพรวมออกมาเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง” ดร.ธนกร กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ประธานคณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ กล่าวว่า “เมื่อโลกเปลี่ยนทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ คณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ จึงก่อตั้งขึ้นมา ด้วยเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างนวัตกรรมสื่อ เหตุเพราะทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ จากเครื่องมือที่มี โดยเฉพาะเทคโนโลยีหรือสื่อออนไลน์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาสื่อให้มีคุณภาพสร้างสรรค์ เพราะจะส่งผลต่อการพัฒนาความคิด ทักษะทางสังคม เพื่อทุกคนจะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น”
ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการนวัตกรรมสื่อ ได้มีการดำเนินการโครงการสำคัญไปหลายโครงการ ดังนี้
1.จัดทำนิยามนวัตกรรมสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์นั้นคือ ว่าการทำสื่อที่สร้างสรรค์และปลอดภัยเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ นิยามนวัตกรรมสื่อ คือ สื่อที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ หรือต่อยอดต่อสิ่งเดิม ซึ่งมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน และกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงได้ง่าย ขณะที่ นิยามของนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คือ นวัตกรรมสื่อที่มีเนื้อหามุ่งเน้นให้เกิดผลดีต่อสังคม ทั้งด้านศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม และความมั่นคง ความคิดสร้างสร้างสรรค์ การเรียนรู้ทักษะชีวิต การรู้เท่าทันสื่อ การใช้ประโยชน์จากสื่อในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม โดยกลุ่มเป้าหมายของการดำเนินงาน คือ สื่อ ผู้ผลิตสื่อ และนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนกลุ่มผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หน่วยงานรัฐเอกชน และภาคีเครือข่ายตลอดจนประชาชนทั่วไป
2.การมอบทุน
เป็นการพิจารณามอบทุนให้กับผู้ที่ต้องการสร้างนวัตกรรมสื่อ หรือต่อยอดจากโครงการเดิมไม่ว่าจะ Open Grant หรือ Strategic Grant หรือมอบทุนในลักษณะความร่วมมือหรือ Collaborative Grant
3.การวิจัยถอดองค์ความรู้นวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โครงการนี้ ได้ส่งผลให้เกิดแนวทางการพัฒนานวัตกรรมสื่อสำหรับผู้ผลิตสื่อ เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและแนวทางการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนา รวมถึงข้อเสนอเชิงกลยุทธ์ต่อกองทุนในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมสื่อ
4.การมอบรางวัลนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Safe & Creative Media Innovation Awards)
คณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อฯ ได้ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) มอบรางวัลนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์2 ประเภท ดังนี้
1.ประเภทเยาวชน
Innovation: การพัฒนาบอร์ดเกมเพื่อเพิ่มทักษะการรู้เท่าทันสื่อได้
Innovator (นวัตกร): นางสาวภณิดา แก้วกูร Website: https://www.newmeeple.com/ FB: https://www.facebook.com/NewMeeple/ เกม “The Rumor Villages” สร้างขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และทักษะการรู้เท่าทันสื่อแก่ เยาวชน โดยเนื้อหาในบอร์ดเกม เกิดจากแนวคิดการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact check) จากคู่มือภาคปฏิบัตินักตรวจสอบข้อเท็จจริง
2.ประเภทบุคคลทั่วไป
Innovation: การพัฒนาการตรวจจับข่าวปลอมโดยการเรียนรู้ของเครื่องและการตรวจสอบข้อเท็จจริงของประชาชน
Innovator (นวัตกร): คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รศ.ดร.พนม คลี่ฉายา Website: https://www.thaidimachine.org/ โครงการพัฒนาต้นแบบเว็บแอปพลิเคชันสำหรับการตรวจจับข่าวปลอมและตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ใช้เป็นกลไกการป้องกัน และแก้ปัญหาข่าวปลอมสำหรับประชาชน
5.การพัฒนาตัวชี้วัดนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
โดยมีคณะอนุกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หรือคณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ ดำเนินการโดยมีเป้าหมายการพัฒนาสื่อผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ได้แก่ การสร้างนวัตกร (Innovator) สื่อในทุกระดับ, การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์, การต่อยอดผลงาน, การสร้างเครือข่าย, การเปิดเวทีระดมความคิดเห็น, การเผยแพร่นวัตกรรมสื่อ และการสร้างเครื่องมือและองค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมสื่อ
นอกจากนี้ ประธานคณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อฯ ยังได้เผยถึงผลการดำเนินโครงการปี 2564 ดังนี้
1.โครงการ “เก๋าชนะ”: ทุนประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant)
รูปแบบรายการ “เก๋าชนะ” เป็นการ “ตอบคำถาม” ออนไลน์ และออฟไลน์ ผ่านแอปพลิเคชั่นZoom โดยแข่งขันทางระบบออนไลน์ ผ่าน zoom ความยาวไม่เกิน 10 นาที จำนวน 16 ตอน มีผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 16 ทีม โดยผู้ชนะเลิศ ได้รับเงินและถ้วยรางวัล
2.iTOP แพลตฟอร์มสำหรับการค้นหา Micro Influencer (ระยะเวลาดำเนินการ 2564-2565)
เป็นการอบรมเพื่อการสร้างรายได้ผ่านเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เห็นว่า iTOP เป็นมากกว่าแพลตฟอร์มที่ค้นหา Micro Influencer แต่สามารถค้นหา “นักเล่าเรื่องระดับประเทศ” ได้ด้วย
3.โครงการ Landlab (ระยะเวลาดำเนินการ 2564-2565)
LANDLAB (แลนด์แลป) เป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านเกษตรและวิถีชุมชน เพื่อครอบครัวยุคใหม่ เพื่อพัฒนาพื้นที่เกษตรดั้งเดิม สู่การสร้างเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและการเรียนรู้ใกล้เมือง จากชุมชนสู่ครอบครัวรุ่นใหม่ ทั้งยาวไทยและต่างประเทศ
4.โครงการปฏิบัติธรรมออนไลน์ ทุกวันพระ (ระยะเวลาดำเนินการ 2564-2565)
สามารถเข้าไปเลือกกิจกรรมที่สนใจ ได้แก่ ทำวัตรเช้า/สวดมนต์ ฟังเทศน์ กิจกรรมฝึกนั่งสมาธิเบื้องต้น ทำวัตรเย็น/สวดมนต์ ผ่านระบบออนไลน์
5.insKru (ระยะเวลาดำเนินการ 2564-2565)
เมื่อคลิกเข้าไปที่ www.inskru.com จะพบกับคลังไอเดียการสอนสดใหม่จากครูทั่วประเทศ โดย insKru มีที่มาจาก inspire + Kru เริ่มจากภาพห้องเรียนที่เราวาดฝันอยากให้เป็น คือ ห้องเรียนที่เด็กๆ เรียนรู้กันอย่างมีความสุข และมีประสิทธิภาพ ทีม insKru มีความเชื่อว่าครูที่มีไอเดียดี กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทางทีมจึงสร้าง online learning community เพื่อให้ครูกว่า 5 แสนคนทั่วประเทศ ได้มาแลกเปลี่ยนไอเดียการสอนดีๆ เพื่อเปิดมฺมองในการสอนและขยายไอเดียการสอนดีๆ สู่ห้องเรียนทั้งประเทศ
“คณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ เรายังคงมุ่งมั่น ในการดำเนินงานโครงการ ตามยุทธศาสตร์และการทำงานเชิงรุก ตลอดจนการทำงานประสานกับภาคีเครื่อข่ายที่มีเป้าประสงค์เดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อเด็กและเยาวชน ตลอดจนพี่น้องประชาชนจะรู้เท่าทัน และเสพสื่ออย่างปลอดภัย” ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าว
นอกจากนี้ ภายในงานยังได้จัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ “สื่อสร้างสรรค์: Media Transforming in Digital Disruption” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ประธานคณะอนุกรรมการนวัตกรรมสื่อ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, จอห์น นูโว หรือจอห์น รัตนเวโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สแพลช อินเทอร์แอ็คทีฟ จำกัด และซี-ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซเชียลแล็บ จำกัด หรือเป็นที่รู้จักในนาม “เจ้าหญิงไอที” ผู้ที่ได้รับทุนโครงการ iTOP แพลตฟอร์มค้นหา Micro Influencer จากทางกองทุนฯ ซึ่งมีผู้สนใจเข้ารับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจำนวนมาก กระทั่งการเสวนาจบลงด้วยความประทับใจ
สำหรับประชาชนที่สนใจ และต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อ สามาถเข้าร่วมงาน นวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์ “Media Innovations Showcase & Forum 2022” ซึ่งจะจัดขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานครและภูมิภาคต่างๆ ในวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ที่จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 14 มกราคม 2565 ที่จังหวัดเชียงใหม่ และวันที่ 28 มกราคม 2565 ที่กรุงเทพฯ พบกับการนำเสนอผลงานนวัตกรรมสื่อ ผลการวิจัย การเสวนา และรายละเอียดการเปิดรับทุนปี 2565 นี้ ร่วมถึง Workshop เปิดรับฟังความคิดเห็นแนวทางการส่งเสริมนวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์ มาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมไทยอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย