ส.เดอะเชฟฯจับมือพันธมิตรจัดอบรม “เมนูกัญชา” ยกระดับอาหารไทยขึ้นชั้นซุปเปอร์ฟู้ดส์ ปรุงอย่างไรให้เป็นยาและเลิศรส

1945

สมาคมเดอะเชฟประเทศไทย (The Chef  Association) คลินิกการแพทย์แผนไทยร่วมสมัย (Contemporary Thai Medicine : CTM) โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี และ ชมรมสื่อมวลชนแพทย์แผนไทย จับมือสร้างอาหารไทยสู่ครัวโลก ระบุ ปรุงอาหารให้เป็นยาด้วยใบกัญชา เพื่อป้องกันโรคและเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง จัดอบรมสัมมนาให้ความรู้ด้านวิชาการ หวังเป็นมาตรฐานรองรับนักท่องเที่ยวโกยเงินเข้าประเทศ

(3 เม.ย. 64) โครงการอบรมสัมมนา หัวข้อ “อาหารจากใบกัญชา ปรุงอย่างไรให้เป็นยาและเลิศรส” ซึ่งจัดโดยชมรมสื่อมวลชนแพทย์แผนไทย ร่วมกับสมาคมเดอะเชฟประเทศไทย (The Chef  Association) และคลินิกการแพทย์แผนไทยร่วมสมัย (Contemporary Thai Medicine : CTM) โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี โดยมีวิทยากรเข้าร่วมประกอบด้วย นพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี  พท.ภ. บัญชา สุวรรณธาดา ที่ปรึกษาโครงการแพทย์แผนไทยร่วมสมัย โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี และที่ปรึกษาการปลูกกัญชาทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร นางสาวรสสุคนธ์ ธนธีระบรรจง นักเทคนิคการแพทย์ชำนาญการ สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ภก.พงษ์ศักดิ์ สง่าศรี เภสัชกร  นายทองเลี่ยม พุกทอง นายกสมาคมเดอะเชฟประเทศไทย และเชฟส่งเสริม ชัยชนะ กรรมการสมาคมเดอะเชฟประเทศไทย โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการร้านอาหาร จำนวน 70 คน สื่อมวลชน จำนวน 30 คน และผู้สนใจทั่วไป รวมแล้วประมาณ 120 คน

นายทองเลี่ยม พุกทอง นายกสมาคมเดอะเชฟประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้กระแสสังคมกำลังต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารที่มีส่วนผสมจากใบกัญชาในการปรุงอาหาร ด้วยเหตุผลจะช่วยให้อาหารมีรสชาติกลมกล่อม รสชาติดีอร่อย  ช่วยให้ร่าเริง ผ่อนคลายความเครียด และทำให้หลับสบาย ส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมากต้องการจะเรียนรู้และชิมรสชาติว่าจะเป็นจริงตามที่กล่าวอ้างเผยแพร่บนโลกออนไลน์หรือไม่…?

ขณะเดียวกัน การปรุงอาหารที่มีส่วนผสมของใบกัญชา คือคำถามที่ถูกถามมากจากกลุ่มเชฟที่เป็นสมาชิกสมาคมเดอะเชฟฯ และผู้ประกอบการร้านอาหารต่าง ๆ ว่า จะปรุงอาหารอย่างไรให้ถูกต้องตามหลักการ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะหากปรุงผิดหลักการ หรือใส่ส่วนผสมจากใบกัญชามากเกินไป ก็อาจส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดผลข้างเคียงได้

ยกตัวอย่างอาการที่ผู้แพ้สารจากกัญชาในบางราย หรือหากทานในปริมาณที่มากเกินไป คือ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้อาเจียน ปากแห้งคอแห้ง เวียนหัว หรือง่วงซึม ดังนั้น การจัดสัมมนาครั้งนี้ ก็เพื่อจะแนะแนวทางให้กับทางเชฟและผู้ประกอบการร้านอาหารได้เข้าใจ ถือเป็นการพัฒนาเรื่องการปรุงอาหารจากใบกัญชาให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อผู้บริโภคจะได้ปลอดภัยจากเมนูที่รังสรรค์ขึ้นมาใหม่ ด้วยการนำตำรับยาแพทย์แผนไทยมาประยุกต์ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมของวงการอาหารไทยในรอบ 40 ปี ที่กฎหมายยาเสพติดให้โทษควบคุมไว้

“ที่สำคัญ อีกหนึ่งเป้าหมายก็เพื่อพัฒนาอาหารไทยให้ก้าวไปสู่ครัวโลก และชูอาหารไทยในการปรุงให้เป็นยา ช่วยดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวเมืองไทย ทานอาหารไทย เพื่อมีส่วนสร้างรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่ง สัมมนาวันนี้ผมขอขอบคุณเชฟ และผู้ประกอบการร้านอาหารทุกคนที่สนใจเข้าร่วมงาน และร่วมกันพัฒนาอาหารไทยไปสู่ครัวโลกให้ได้ในอนาคต” นายทองเลี่ยม กล่าว

ด้าน พท.ภ.บัญชา  สุวรรณธาดา ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาการแพทย์แผนไทยร่วมสมัย โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี และที่ปรึกษาการปลูกกัญชาทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร  กล่าวว่า การแพทย์แผนไทยร่วมสมัยหวังว่า ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้ประโยชน์ในการพัฒนาตำรับเมนูอาหารให้ยกระดับขึ้นสู่ความเป็นซุปเปอร์ฟู้ดส์ หรืออาหารคุณภาพสูง หรือแม้แต่การพัฒนาสู่อาหารทางยา ถือเป็นการเปลี่ยนรูปแบบอาหารให้มีความปลอดภัยสูง และเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาได้นำองค์ความรู้การพัฒนาตำรับอาหารในเชิงวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจก็เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของคนทั่วโลก เพื่อการดูแลและป้องกันการเจ็บป่วย ซึ่งการรับประทานอาหารที่ให้ฤทธิ์ทางยาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลสุขภาพในโลกยุคปัจจุบัน

นางสาวรสสุคนธ์  ธนธีระบรรจง นักเทคนิคการแพทย์ชำนาญการ สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามประกาศ พรบ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5  พ.ศ. 2562 ให้นำเปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก และใบ จากพืชกัญชาไปใช้ประโยชน์ได้ (ยกเว้น น้ำมันและช่อดอก) แต่ต้องมีแหล่งที่มาที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายกำหนด สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารและเครื่องดื่มได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย

ส่วนการนำใบกัญชาไปแปรรูปเพื่อการค้าเชิงพาณิชย์ จะต้องไปขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน แต่ขณะนี้ ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะอยู่ระหว่างการร่างกฎระเบียบทางกฎหมายให้เสร็จสิ้นก่อน ถึงจะประกาศเป็นทางการได้

นายจรัญ  ชุ่มเงิน ประธานชมรมสื่อมวลชนแพทย์แผนไทย กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งที่ 1 นี้ ถือว่าประสบความสำเร็จได้ดี มีผู้ประกอบการร้านอาหาร เชฟ และผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ดังนั้นก้าวต่อไปคือการพัฒนารูปแบบการปรุงอาหารจากใบกัญชาให้เป็นยาที่เลิศรส เพื่อผู้บริโภคได้ทานอาหารที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกัน ก็คาดหวังว่าจะมีส่วนกระตุ้นให้คนไทยหันมาทานอาหารไทยเพื่อเป็นยามากขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าการหาเงินไปจ่ายค่ายาและค่าหมอ

สำหรับเป้าหมายของการจัดสัมมนาครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต่าง ๆ ได้เข้าใจกฎกติกาทางกฎหมายต่อพืชกัญชาว่า ส่วนไหนที่ปลดล็อคแล้ว และส่วนไหนของพืชกัญชาที่ยังต้องยึดโยงทางด้านกฎหมายอยู่ จะได้ไม่กระทำความผิด ขณะเดียวกัน เรื่องสูตรอาหาร จำนวน 10 สูตร ที่ทางผู้จัดได้คิดค้น และนำมาประยุกต์ขึ้นใหม่ตามตำรับยาแพทย์แผนไทย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นนวัตกรรม และเป็นการปฏิรูปอาหารไทยให้เป็นยาเพื่อสุขภาพ ก็จะถือว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อประเทศชาติและคนไทยเป็นอย่างยิ่ง

“ต่อไปในอนาคต หากอุตสาหกรรมวงการอาหารไทย ได้รับการเรียนรู้และพัฒนาต่อยอด ด้วยการนำใบกัญชามาเป็นส่วนหนึ่งของอาหาร ก็เชื่อว่าจะผลักดันไปสู่ครัวโลกได้ ที่สำคัญจะดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวและทานอาหารไทยที่เป็นยาเพื่อสุขภาพ และนี่คือโจทย์ที่คนไทยทุกคนต้องช่วยกัน เพราะสามารถดึงเม็ดเงินเข้าประเทศได้มาก เป็นการช่วยชาติสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ผมหวังไว้เช่นนั้น” นายจรัญ กล่าว