สสปท. ดึงสุดยอด 9 ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เปลี่ยนมายเซ็ทคนทำงานให้ตระหนัก “ความปลอดภัย” รูปแบบใหม่ที่มีความซับซ้อน หลากหลาย ตามองค์ความรู้ เทคโนโลยี รวมไปถึงรสนิยมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เปิด “สามย่านมิตรทาวน์” ดึงทุกเจนร่วมแชร์ประสบการณ์ 10-12 มิ.ย. 65 พร้อมถ่ายทอดผ่านระบบออนไลน์เข้าถึงทุกกลุ่มทั่วโลก
ผศ.ดร.ชลฤทธิ์ เหลืองจินดา ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท. หน่วยงานในสังกัด กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ภายหลัง สสปท. ได้รับการจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน เมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา ได้นำภารกิจคำว่า “ความปลอดภัย” มาขับเคลื่อนในรูปแบบใหม่ ตามภารกิจใหม่ คือ ฉับไว เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนตระหนักในความปลอดภัย โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือทำอย่างไรให้คนที่ประกอบวิชาชีพมีความปลอดภัย ไม่ว่าจะอยู่ในมิติใด ทำหน้าที่ส่งเสริม ให้ความรู้ ขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนในสังคม ทั้งในเชิงวิชาการและการให้บริการที่หลากหลาย ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ ทั้งในและต่างประเทศ
“ปัจจุบันมีอาชีพใหม่ๆเพิ่มขึ้นจำนวนมาก มีความหลากหลาย เราไม่สามารถกำหนดกรอบความปลอดภัยแบบเดิมได้อีกต่อไป เราจึงออกแบบให้กลุ่มเป้าหมายขยายกว้างขึ้น โดยปีนี้เราคุยกันว่าจะขยายฐานเดิมคือ กลุ่มแรงงาน (labor) เช่น คนทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร สถานประกอบการเอสเอ็มอี ไปสู่กลุ่ม Worker โจทย์จึงน่าสนใจมากขึ้น มีภารกิจที่ต้องทำมากขึ้น และไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่รวมถึงต่างประเทศด้วย โดยอาศัยแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นสื่อนำทาง” ผศ.ดร.ชลฤทธิ์ กล่าว
ผอ.สสปท. กล่าวต่อว่า การทำงานของ สสปท.คือเน้นการสื่อสาร ให้ความรู้ กระตุ้นให้ทุกคนตระหนักในความปลอดภัย และเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายความปลอดภัย เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม เมื่อมีการออกกฎหมายควบคุม จัดการ ที่เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย เราจะต้องนำองค์ความรู้เข้าไปสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการ คนทำงาน ว่าจะยกระดับตัวเองขึ้นมาอย่างไร จะดูแลแบบไหน ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ จนบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ หรือแม้กระทั่งสูญเสียชีวิต นโยบายของเราคือต้องป้องกันตั้งแต่การบาดเจ็บขั้นพื้นฐาน เช่น เมื่อพูดถึงการทำงานบนที่สูง คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการปีนเสา หรือ ตึกสูง แต่ในต่างประเทศเกิน 30 เซนติเมตรกฎหมายถือว่าสูงแล้ว ลอยสูงจากพื้น 1 ฟุตก็ทำให้ข้อเท้าพลิกได้ ทำให้บาดเจ็บได้ เพราะฉะนั้นการป้องกันความปลอดภัยไม่ได้หมายถึงการสูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิตอย่างเดียว แต่เราต้องป้องกันตั้งแต่การบาดเจ็บขั้นพื้นฐาน
“มิติความปลอดภัยยุคใหม่เปลี่ยนไปเยอะ ยิ่งเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เราต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ ทีมผู้บริหาร สสปท.คิดกันว่า ถ้าเรายังมุ่งอยู่ในมิติดั้งเดิม เราจะตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลง ถ้าเรายังยึดหลักคือกลุ่มเลเบอร์ ยังไงก็ไม่เปลี่ยน แต่พอเราเปลี่ยนจากเลเบอร์ เป็น เวิร์คเกอร์ จะเกิดการตั้งคำถามใหม่ ต้องตีความการทำงานแบบไหน ถ้าตีความกว้างไปก็ทำงานลำบาก แต่ถ้าตีความแคบเกินก็ไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ต้องปรับตัวรับกับอาชีพใหม่ๆ เวลาเราพูดคำว่า ความปลอดภัย ฟังแล้วอาจรู้สึกว่าธรรมดา แต่ถ้าตีราคาเป็นมูลค่ามันมหาศาลจนนับไม่ถ้วน ถ้าเกิดความสูญเสียชีวิต เงินเท่าไหร่ก็ทดแทนไม่ได้ หรืออวัยวะขาดหายไปชีวิตก็อาจจะเปลี่ยนไปเลย ถ้าเราไม่ทำให้คนตระหนักในสิ่งเหล่านี้ มายเซ็ทของเขาในเรื่องความปลอดภัยก็จะไม่มีอะไร แม้กระทั่งการคาดเข็มขัดนิรภัยสำหรับบางคนยังมองว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญ เพราะเขายังไม้รู้ซึ้งถึงคำว่าความปลอดภัย เมื่อปัญหายังไม่เกิด ก็ยังมองไม่เห็นภาพที่ชัดเจน ทำอย่างไรจะให้ทุกคนมองเห็นภาพความปลอดภัยที่แจ่มชัด ตระหนักและป้องกันก่อนจะสาย ภารกิจของ สสปท.คล้ายกับโรงพยาบาล แต่ทำคนละจุด โรงพยาบาลรับรักษา คือรู้เมื่อสาย แต่ของเราทำก่อนสาย มูลค่าคือชีวิตคน คุณค่าของมิติจะเกิดขึ้นในตอนท้ายคือลดอาการบาดเจ็บ ลดการสูญเสียอวัยวะ ในต่างประเทศให้ราคากับงานที่เป็นเชิงป้องกันมาก เขาถือว่าการป้องกันจ่ายน้อยกว่าการแก้ไข”
ผศ.ดร.ชลฤทธิ์ กล่าวอีกว่า การแพร่ระบาดของโควิดทำให้การทำงานของ สสปท.มีจุดโฟกัสมากขึ้น คนให้ความสำคัญกับการป้องกันมากขึ้น และเมื่อการทำงานถูกผ่องถ่ายจากสถานประกอบการไปอยู่ในบ้าน หรือ เวิร์ค ฟอร์ม โฮม มิติความปลอดภัยก็จะถูกขยายให้ครอบคลุมมากขึ้น ไม่ใช่แค่การระวังเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ในสถานที่ทำงาน แต่การนั่งทำงานในบ้านก็ต้องมีความปลอดภัย การเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตคน ทำให้เกิดรูปแบบการทำงานที่หลากหลากหลายในยุคปัจจุบัน องค์ความรู้ เทคโนโลยี รวมไปถึงรสนิยมในการใช้ชีวิต มีความยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนตามสภาวะที่ต่างกัน มิติความปลอดภัย ความสมดุลต่างๆจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นพื้นฐานของอารยะสังคม ไม่ว่าจะเชิงกายภาพหรือเชิงความรู้สึก และเมื่อทุกชีวิตมีคุณค่า การดำรงชีวิตจึงต้องปลอดภัย เทคโนโลยีต่างๆที่เข้ามาแก้ปัญหาแทนมนุษย์จะนำพารูปแบบที่ก้าวข้ามความเสี่ยงหรืออุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แนวคิดใหม่ๆในการสร้างสรรค์ การทำงานจะเกิดประสิทธิภาพและความหลากหลายอย่างกว้างขวาง ความรวดเร็วและความล้ำหน้าของเทคโนโลยีจะทำให้อุตสาหกรรมและการบริการแห่งอนาคตเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของมนุษย์ไปสิ้นเชิง องค์ความรู้ด้านความปลอดภัยใหม่ๆจะมาสอดรับกับพฤติกรรมความต้องการทำงานของมนุษย์ กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของรูปแบบการส่งเสริม หรือการสร้างทัศนคติด้านความปลอดภัยที่จำเป็นต้องเข้าใจบริบทของพฤติกรรมการทำงานยุคใหม่
“ผมได้นำโปรเจ็กต์การยศาสตร์ (Ergonomics) มาสร้างมุมมองใหม่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน คือสรีระขณะนั่งทำงาน สัดส่วนการวางท่าทาง เราเรียกว่าเป็นความเสี่ยงระยะยาว เป็นส่วนหนึ่งของความปลอดภัย นั่งท่าผิดไม่ใช่แค่เมื่อย แต่อาจถึงขนาดต้องผ่าตัด อาจนำไปสู่ความสูญเสียอวัยวะจากท่านั่ง เรื่องเหล่านี้ไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องนั่งหรือยืนท่านั้นท่านี้ สสปท.จึงต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดความปลอดภัย ผ่านเครือข่ายต่างๆหลายสาขา ถ้าเป็นการสื่อสารผ่านโรงงานจะมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในโรงงานรับเรื่องไปขยายต่อ แต่คนทำงานที่บ้านไม่มีเจ้าหน้าที่ตำแหน่งนี้คอยควบคุม เราจะทำอย่างไรให้เขาตระหนักในความปลอดภัย ซึ่งก็ต้องมีการสื่อสารแบบใหม่ ใช้เครือข่ายแบบใหม่เข้ามารณรงค์ส่งเสริม”
ผศ.ดร.ชลฤทธิ์ กล่าวถึงการจัดงาน OSH Avenue International Conference 2022 หรือ OAIC ว่าจะเป็นงานที่สร้างความแปลกใหม่เกี่ยวกับความปลอดภัย โดยจะนำมุมมองของเหล่าผู้มีประสบการณ์ในสาขาต่างๆมาแชร์องค์ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจในมิติความปลอดภัยของการทำงานในรูปแบบต่างๆ เป็นจุดเชื่อมต่อขยายเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ สร้างแนวคิดคิดกรรมใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นได้ตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
“กิจกรรมปีนี้ค่อนข้างแปลกตา ไม่ยึดติดในแบบแผนวิชาการอย่างเดียว เราจึงเลือกสถานที่จัดงานอย่าง “สามย่านมิตรทาวน์” จัดในวันสุดสัปดาห์คือศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน 2565 กำหนดคนเข้าฟังไม่เกิน 100 คน ตามมาตรการเว้นระยะห่าง อย่างไรก็ตาม เรามีการถ่ายทอดผ่านระบบออนไลน์ และผมออกแบบการสัมมนาให้คนอยากกลับไปดูซ้ำแล้วซ้ำอีก จึงเชิญกูรู 9 คนที่มีแฟนคลับ ได้รับการยอมรับในสังคม มานำเสนอเรื่องความปลอดภัย พลิกภาพความปลอดภัยแบบเดิม เนื่องจากทั้ง 9 คนไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับความปลอดภัยเลย แต่มาพูดเรื่องเดียวกันคือความปลอดภัยในมิติของเขา เช่น ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล พูดเรื่องกฎหมายประชาสังคมว่าจะปลอดภัยเท่าเทียมกันอย่างไร ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ชั้นแนวหน้าของเมืองไทย พูดเรื่องความปลอดภัยในระบบการขนส่ง รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ทำอวัยวะเทียมสั่งการสมองให้คนที่ไม่มีแรงขยับแขนได้ ก็จะพูดในมิติด้านความปลอดภัยของอวัยวะ เป็นต้น ผมวาดฝันให้งานนี้เป็น เซฟตี้ คอมมูนิตี้ ดีไซน์ เป็นพื้นที่ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่คนสนใจมาเจอกัน จึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงาน บทความวิชาการ หรือแชร์องค์ความรู้โดยไม่จำกัดรูปแบบ บางคนอาจทำเป็นคลิปแบบลงยูทูป แต่ขอให้เกี่ยวกับความปลอดภัย ผมมองว่าคอนเทนต์ดีๆหนึ่งคอนเทนต์ก็ถือเป็นความปลอดภัยได้เหมือนกัน เราอยากให้ความปลอดภัยกลายเป็นอีโคซิสเต็มส์ โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.oaicth.com สำหรับใครที่สนใจเข้าร่วมงาน OAIC 2022 ทุกท่าน ทุกเจน ในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ 10-12 มิถุนายน 2565 ก็ไปพบกันได้ที่ Mitr-ting Room ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ หรือจะติดตามผ่านระบบออนไลน์ทั้งในแบบเรียลไทม์ หรือ ชมย้อนหลังได้ที่ www.oaicth.com รวมถึงสื่อ youtube Facebook ของ สสปท. ความสำเร็จของเราคือ ยิ่งป้องกันเร็วเท่าไหร่ ยิ่งลดการสูญเสียมากเท่านั้น งานส่งเสริมมองไม่เห็นแต่รู้สึกได้” ผอ.สสปท. กล่าวปิดท้าย