สงกรานต์ย่าน..อินเดีย

1845

สงกรานต์มีทั่วไปหลายประเทศ อาทิ ในพม่าที่เรียกว่า “ทิงยาน”  ในเขมร ลาว หรือในจีนตอนใต้ ถือเป็น ‘วันปีใหม่’ แต่ที่จะเล่าให้ฟังคือสงกรานต์ในอินเดีย ชาวอินเดียถือว่าวันที่ 14 เมษายนของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่

ยกตัวอย่าง ทางใต้ รัฐทมิฬนาดู ที่มีเจนไนเป็นเมืองหลวง จะมี ‘วันพูธานดู’ (Puthandu) ชึ่งชาวทมิฬจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ ไปวัดจัดงานใหญ่กันที่กาญจีปุรัม (Kanchipuram), มาดูไร (Madurai) เเละเมืองอื่นๆ ทางแถบอินเดียใต้ รวมทั้งในประเทศที่มีชาวทมิฬอาศัยอยู่ เช่น สิงคโปร์-มาเลเซีย ผมเองย้ายไปประจำที่เมืองเจนไนเกือบสองปีเต็ม ชอบๆๆๆ  คนใต้ใจถึง

 

วกขึ้นไปทางเหนือ  งานปีใหม่ 14 เมษายน ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน คือ งานไบซากี (Baisakhi) ของชาวซิกส์ ผู้โพกหัวเเห่งรัฐปัญจาบ ที่มีเมืองหลักคืออัมริสา เมืองแห่งวิหารทองคำ ต้นกำเนิดของศาสนาเช่นกัน เขาจะไปโบสถที่เรียก กูรูดวารา (Gurudwara) ใส่เสื้อผ้าใหม่ เฉลิมฉลอง เเละเต้นรำกันอย่างสนุกสนานตาม จังหวะเพลงปัญจาบที่เร่าร้อนเป็นที่รู้จักทั้งอินเดีย

ถัดไปก็ญาติเราเอง พี่น้องชาวอาหมในรัฐอัสสัม อันมีเมืองหลวงชื่อ กูวาหตี (Guwahati)  เขาฉลองวันรองกาลีบีหู้ (Rangali bihu)  อันนี้ออกเสียงคล้ายคำสงกรานต์ (Songkranti) ชาวอัสสัมผู้หญิงจะสวมใส่ชุดสวยตามประเพณีที่เรียกว่า เมฆขลา (Mekhla) เป็นผ้าทอมือมูกกาสีทองอันมีชื่อ ผู้ชายจะโพกหัวด้วยผ้ากัมชา (Gamcha) สีขาว ออกมาเต้นรำตามจังหวะเสียงกลองและปี่เขาควาย อัสสัมนี่ฉลองปีใหม่กัน 7 วัน 7 คืน ผ ม เ อ ง เ ค ย ไ ป ร่ ว ม ห ล า ย ห น   ห ล า ย ห มู่ บ้ า น จนคุ้นเคยกับการเต้นบีหู้ที่หมุนและยกสะโพก ร่ายรำโผบิน เหมือนนกได้ดี

อีกที่คือปีใหม่ของชาวเวสเบงกอล  ที่มีกัลกัตตาเป็นเมืองหลวง เมืองนี้เคยเป็นอดีตเมืองหลวงของอินเดียก่อนย้ายไปเดลี ชาวเบงกอลี เขาฉลองปีใหม่ที่เรียกว่า นาบา บารสา (Naba Barsha) วันที่ 14 เมษายน เช่นกัน สาวๆ จะใส่ส่าหรีขาวขอบแดง และติดดอกไม้ ที่มวยผม วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ดีกว่าเก่า นักธุรกิจ จะเริ่มทำบัญชีใหม่เพื่อความรุ่งเรือง

สุดท้ายดิ่งลงใต้ไปที่ เคราล่า อันเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวมาลายาลาม (Malayalam)  ตั้งอยู่ทางใต้ฝั่งตะวันตก มีเมืองโคชิ (kochi) และ ตรีรุวะนันทะปุรัม (Triruvananthapuram) เป็นเมืองหลัก ที่นี่ก็มีการฉลองปีใหม่ วันที่14 เมษายนของทุกปีเช่นกัน แถบนี้เรียกวันหรือเทศกาลวิชชุ (Vishu) ที่มีความเชื่อหลักของวันปีใหม่คือการเริ่มต้นที่ดีในวันนี้ ตื่นมาก็ต้องเริ่มทำแต่สิ่งดี ก่อนก้าวออกจากบ้านไปศาสนสถาน ก็จะตระเตรียมสิ่งสวยงามไว้ให้พบเห็นในวันแรกของปีที่บ้าน เชื่อว่าก้าวแรกดี ก้าวต่อไปก็จะดี มีการเฉลิมฉลอง ร้องรำทำเพลง และ จุดประทัด (patassu) แต่งตัวเสี้อผ้าใหม่ และให้ของขวัญเด็ก

วัฒนธรรมอินเดียใต้ จะใกล้เคียงกับไทยมาก และวัดเเขกสีลมที่ท่านเห็นยอดตัดป้าน สีสันสดใส ก็เป็นวัดแนวเดียวกับวัดฮินดูทางใต้ของชาวทมิฬ ตั้งแต่อาณาจักรทโจฬะ

เล่าเท่าที่ทราบนะครับ เล่าจากประสบการณ์ จากการประจำการอยู่อินเดีย 13 ปี (เดลี 10 ปี เจนไน 2 ปี และมุมใบอีก 4 เดือน)

 

ธราดล ทองเรือง

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรุงนิวเดลี

15 เมษายน 2561