ลองหรือยัง? Shareways..รถคันเดียวกัน แชร์ค่าน้ำมัน

2345

สุริยพงศ์ ทับทิมแท้ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Pamba เป็นผู้ประกอบการใหม่อีกกลุ่ม ที่นำเสนอแพลตฟอร์ม การร่วมเดินทาง หรือ Shareways

จากประสบการณ์เคยทำงานที่สวิตเซอร์แลนด์ และมีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวในยุโรปหลายประเทศ เขาพบว่าเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ทั้งการร่วมเดินทางด้วยรถยนต์ ให้เช่ารถจักรยาน ร่วมเดินหรือร่วมวิ่งด้วยกัน ค่อนข้างได้รับความนิยมแพร่หลาย เพราะเป็นหนึ่งในเทรนด์ของโลกยุคใหม่ ที่มีแนวโน้มขยายตัวในอนาคต

เมื่อกลับมาไทย กลางปี 2559 สุริยพงศ์ จึงรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ศึกษาและพัฒนาโมเดลดังกล่าว ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและพฤติกรรมของคนไทย

“คอนเซ็ปต์ของเราก็คือ การเป็นส่วนหนึ่งของ Smart City แม้จะเป็นเรื่องใหม่ในไทย แต่ก็คิดว่าวันหนึ่งเรื่องนี้ก็จะน่าเกิด  ภายใต้แนวคิด ไปทางเดียวกัน รถคันเดียวกัน แชร์ค่าน้ำมัน ได้พบผู้คน” สุริยพงศ์ จุดประกายความคิด

เป็นเรื่องปกติของบรรดาผู้ประกอบการใหม่ ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม ช่วงเริ่มต้นย่อมต้องลองผิดลองถูก ไม่ต่างจาก Pamba ที่มุ่งโฟกัสตอบสนองการร่วมเดินทางของผู้คนในเขตเมืองเป็นหลัก นำร่องทดสอบระบบกับเจ้าหน้าที่ของ SME Bank สำนักงานใหญ่ ย่านซอยอารีสัมพันธ์ ถนนพหลโยธิน ปรากฏว่าผลที่ได้รับกลับไม่เวิร์ค!

“โจทย์สำคัญ คือ การเป็นทางเลือกใหม่ที่ดีกว่า สามารถแก้ปัญหาในเรื่องการเดินทางได้ แต่ปัจจุบันรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดิน ก็แทบจะคลอบคลุมทุกเส้นทางในกรุงเทพหมดแล้ว เปรียบไปเราก็แทบจะไม่ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้เลย ไม่ได้เป็น pain killer แต่เป็นแค่ vitamin ใครจะกินหรือไม่ก็ได้”

ผลักดันให้ทีมคนรุ่นใหม่ ที่นำชื่อเล่นของแต่ละคนมาตั้งเป็นชื่อ Pamba ต้องหันกลับมาทบทวน ปรับกระบวนท่า สังเคราะห์ข้อมูลกันยกใหญ่ สังคมร่วมเดินทางต้องการความไว้ใจ ความปลอดภัย ประหยัดค่าใช้จ่าย แถมได้มิตรภาพระหว่างทางก็ยิ่งดี สิ่งเหล่านี้จะต้องมีเมื่อเข้าร่วมกับ Pamba Shareways Community ประการสำคัญ คือ แพลตฟอร์มรองรับต้องพร้อม ช่องทางเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่นบนระบบ ios และแอนดรอยส์

กระทั่งเมื่อพัฒนาและยกระดับไปถึงจุดที่ว่า แพมบา ก็ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย เวทีประกวดธุรกิจสตาร์ทอัพของกลุ่ม True ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งเดียวจากโมเดลธุรกิจแบบ Car Sharing ทั้งยังได้รับการประชาสัมพันธ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ TNN 24 จึงทำให้ Pamba เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น สะท้อนจากจำนวนสมาชิกในปัจจุบัน ทั้งเจ้าของรถ (Pamber) และผู้ร่วมเดินทาง (Pambian) รวมกันประมาณ 3,000 คน

ซีอีโอ คลื่นลูกใหม่ชี้ให้เห็นถึงข้อดีของ แพมบาแชร์เวย์ ว่ามีอยู่ด้วยกัน 5 ประการ คือ

  1. เดินทางประหยัดขึ้น – จากผู้ร่วมเดินทางช่วยกัน แชร์ค่าน้ำมัน หารค่าทางด่วน
  2. เดินทางสะดวกขึ้น – นั่งสบายในรถส่วนตัว จะเลือกขึ้นทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์ก็ได้ เพราะมีตัวหาร
  3. เดินทางปลอดภัย – ผู้ร่วมเดินทางทุกคน ผ่านการลงทะเบียนสมาชิก และยืนยันตัวตนในระบบ
  4. เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กรุงเทพฯน่าอยู่ – ด้วยคุณค่าแห่งการแบ่งปัน ช่วยลดค่าครองชีพ ลดปริมาณรถบนถนน ลดการบริโภคน้ำมัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  5. เดินทางสนุกขึ้น – ด้วยมิตรภาพที่เกิด จากการเดินทางร่วมกัน

สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนในปี 2561 สุริยพงศ์ บอกว่า จะให้ความสำคัญกับเส้นทางที่ไม่ค่อยมีรถโดยสารสาธารณะให้บริการ ประหนึ่งเครื่องยนต์อีก 2 ตัว ที่จะช่วยเสริมสมรรถนะให้กับแพมบา

เครื่องยนต์ตัวแรก คือ กลุ่มมหาวิทยาลัย ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ได้เซ็น MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อการเข้าไปเติมเต็มการร่วมเดินทางให้กับกลุ่มนักศึกษา หรือบุคลากรของทางมหาวิทยาลัย หลังการทดสอบระบบจากศูนย์รังสิตมาท่าพระจันทร์ ระยะทางราว 50 – 60 กิโลเมตรนั้น Pambian จะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 80 – 90 บาทเท่านั้น

นอกจากที่ธรรมศาสตร์แล้ว แพมบา ยังได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย หรือ SUN Thailand (Sustainable University Network of Thailand)  24 แห่งทั่วประเทศ เพราะการดำเนินงานมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

เครื่องยนต์ตัวที่สอง คือ การจะจับมือร่วมกับ สมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย  เพื่อร่วมส่งเสริมและสนับสนุนการเที่ยวเมืองรอง เนื่องจากยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ  ชุมชน หรืออีกหลากหลายสถานที่ ที่รถโดยสารสาธารณะเข้าไม่ถึง  ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการไปปักหมุดใน Destination เดียวกัน ก็สามารถที่จะเข้ามาจับคู่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน ผ่านแพลตฟอร์มการให้บริการของ Pamba Shareways

สุริยพงศ์ ให้ข้อมูลอีกว่า โมเดลธุรกิจที่ปลุกปั้นมานี้ น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการใหม่หรือสตาร์ทอัพ แต่แท้จริงแล้วเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งทั้งหมด คือ การเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อมีส่วนร่วมยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนด้วยการเดินทางมากกว่า หรือจะเรียกพวกเขาว่าเป็น Tech SMEs ก็ว่าได้ และในวันที่ 10-15 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มของแพมบา ได้รับเชิญจาก สภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้เข้าร่วมแสดงผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ในงาน International Exhibition Invention ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

“จำนวนสมาชิกของแพมบาจะมากหรือน้อยคงไม่สำคัญ เพราะเราขอเพียงแค่ให้ 100 คนรัก มากกว่า 10,000 คนชอบ”

คำพูดทิ้งท้ายของผู้บริหารรุ่นใหม่อนาคตไกล วิสัยทัศน์น่าชื่นชม จึงไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงที่จะเข้าร่วมเป็น Pamber และ Pambian อย่างยิ่ง

ว่าแล้วก็เริ่มสตาร์ทกันเลยดีกว่า!

ที่มา : www.smemestyle.com