เยาวราช หรือ China Town ของไทยเราที่ชาวต่างชาติมักคุ้นกัน ยังคงเปี่ยมด้วยสีสันและมนต์เสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย ยิ่งกับช่วงเวลาสำคัญ เทศกาลตรุษจีน ด้วยแล้ว สถานที่แห่งนี้จึงดูคึกคัก คลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากเป็นพิเศษ
เยาวราช มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นย่านชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลดั้งเดิมที่เข้ามาตั้งรกราก นับแต่การย้ายราชธานีมาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อกว่า 200 ปี ดังที่รับรู้กัน
วิถีชีวิตของลูกหลานไทยเชื้อสายจีนที่เยาวราช แม้จะปรับเปลี่ยนไปบ้างตามยุคสมัย แต่กลิ่นอายทางศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา และความเป็นศูนย์กลางทางการค้า ของภาพจำในวันวาน ยังคงหลงเหลืออยู่ ไม่เลือนหายไปกับกาลเวลาเสียทั้งหมด
ในอดีตกุลีชาวจีนที่ต้องการส่งเงินกลับจีนแผ่นดินใหญ่ ก็จะมาไหว้วานผู้คนในย่านนี้ ซึ่งจะมี “โพยก๊วน” คอยให้บริการรับส่งเงินตรา แต่ทุกวันนี้สองฟากฝั่งถนนก็จะถูกทดแทนด้วยสาขาของแทบทุกธนาคาร เข้ามาเป็นผู้อำนวยความสะดวก
สถานที่พักค้างอ้างแรมแบบชั่วคราวหรือค้างคืน ประเภทกิจการโรงเตี๊ยมหรือโรงน้ำชา ตามตรอกซอกซอยบนถนนเยาวราช เจริญกรุง ทรงวาด ฯลฯ อันเป็นพื้นที่ผ่อนคลายของบรรดาเสี่ยน้อย เสี่ยใหญ่ ที่พบเห็นได้ทั่วไปในสมัยก่อน ก็ถูกแปรสภาพเป็นร้านค้า หรือไม่ก็โรงแรมขนาดเล็ก กลาง ใหญ่สมัยใหม่ ไปแทบจะหมดสิ้น
มิพักยัง ต้องพูดถึงกิจการ โรงภาพยนตร์หรือโรงหนัง ที่เคยเป็นโรงมหรสพพื้นฐานของชาวเยาวราชนั้น ได้ หายสาบสูญไปนานนับสิบปีแล้ว…
อย่างไรก็ดี จากผลการสำรวจของหลายสำนักในปัจจุบัน ระบุไปในทิศทางใกล้เคียงกันว่า เยาวราช เป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจนับหมื่นล้านบาทในแต่ละปี!
นั่นเพราะ เยาวราช ยังคงเป็นศูนย์กลางทางการเงิน แหล่งใหญ่ค้าขายทองคำ ย่านชอปปิ้ง และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ
แม้สภาพโดยรวมของผู้คนและพ่อค้าแม่ขายในย่านนี้จะแปรเปลี่ยนไป การหลอมรวมทางวัฒนธรรมไทย-จีน แทบจะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรก จะเป็นลูกหลานจีนโพ้นทะเล รุ่นที่ 3-4 ปักหลักพักอาศัยและทำมาค้าขายสืบต่อกันมารุ่นสู่รุ่น กลุ่มที่สอง ย้ายที่พักไปยังสถานที่อื่น เพื่อหลีกหนีความจอแจแออัด เข้าไปในเมืองหรือชานเมือง แต่ยังคงมีกิจการอยู่ที่นี่ มาทำงานแบบไปเช้าเย็นกลับ โดยให้ลูกจ้างหรือคนงานพำนักพักพิงแทน และ กลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มคนจากที่อื่นที่เข้ามาเป็นซื้อ-เซ้ง-เช่า ตึกหรืออาคาร เพื่อดำเนินธุรกิจประเภทต่างๆ
ในช่วง เทศกาลตรุษจีน ปีหมาทอง ปี 2561 แน่นอนว่าเราก็ไม่พลาดจะแวะเวียนไปที่ถนนสายมังกรแห่งนี้
ไม่แน่ใจว่า ประเพณีจัดงานตรุษจีน ที่เยาวราชถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อไหร่ แต่ก็รับรู้ได้ว่าแม่งานใหญ่ทางกทม. สมาคมชาวไทยเชื้อสายจีน บรรดาร้านรวง และชุมชนคนเยาวราช ดูจะจัดงานให้ยิ่งใหญ่ ตระการตา มากขึ้นทุกปีๆ
เช่นเดียวกับปีนี้ จะจัดขึ้นภายใต้ธีม “ร่ำรวย โชคดี ปีหมาทอง” เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันแน่นเหนียวระหว่างวัฒนธรรมไทย-จีน ด้วยกิจกรรมการละเล่นมากหมาย การเชิดสิงโตบนเสาดอกเหมย การแสดงมายากลเปลี่ยนหน้ากากจีน กายกรรมต่อตัว แสดงดนตรีจีน กู่เจิ้ง เอ้อหู ตลอดจนเชื้อเชิญให้มาชิมอาหารเหลา และสตรีทฟู้ดขึ้นชื่อ อีกนับ 100 ร้าน ตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืนของวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ ศกนี้
สีสันและบรรยากาศบนถนนเยาวราชในเวลานี้ จึงถูกตกแต่งและประดับด้วยโคมไฟและขึงป้ายผ้าแดงไปตลอดแนวถนน บนผืนผ้าแดงแต่ละผืนนอกจากจะมีภาษาไทย-จีน-อังกฤษ ประกาศเชิญชวนอย่างเป็นทางการแล้ว ก็จะระบุผู้จัดทำหรือสปอนเซอร์สนับสนุนการจัดงาน ติดประทับไว้ให้เห็นเด่นชัด ธนาคารบ้าง ร้านทองบ้าง หรือไม่ก็สารพัดชื่อร้านอาหาร
สินค้าจำเป็นในพิธีไหว้เจ้าที่สำคัญ ดอกไม้ ธูปเทียน “กอจี๊” หรือ จี๊จุ๊ย “กิมจั๊ว” หรือกระดาษเงิน กระดาษทอง “กิมเต๊า” หรือถังเงิน ถังทอง และ “อิมกังจัวยี่” หรือแบงค์กงเต็ก ฯลฯ ถูกวางจำหน่ายตามร้านรวงและแผงค้าบนฟุตบาทกันอย่างหนาตา
ไม่ต่างกับเสื้อผ้าอาภรณ์ชุดกี่เพ้าจีน โดยเฉพาะของสุภาพสตรี แบบสำเร็จรูปหรือจะสั่งตัดไม่เกิน 3 วัน 7 วัน สนนราคาหลักร้อยไปจนถึงหลักพัน ก็มีเสียงเรียกขานเป็นระยะๆ จากบรรดาแม่ค้าให้ซื้อสวมใส่กัน เพื่อความเป็นสิริมงคล
สินค้ามงคลที่พิเศษในปีนี้ที่มีมากหน่อย เห็นจะเป็น ซองอั่งเปา ตุ๊กตาสุนัข และเสื้อยืดแดงสกรีนภาพสุนัขหลากหลายสายพันธุ์ ล้อไปกับปีจอ ตามปีปฏิทินจันทรคติ ซึ่งราคาจำหน่ายก็ไม่สูงนักในหลักสิบ หลักร้อยบาทเท่านั้น
ตรงกันข้ามกับราคาทอง ทั้งทองรูปพรรณและทองคำแท่ง ที่จะดีดตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 100-200 บาทในช่วงนี้เป็นประจำทุกปี กระนั้น แต่ละร้านทองก็ยังมีความต้องการจากผู้ซื้อไม่ขาดสาย โดยเฉพาะห้างทองชื่อดัง “ฮั่ว เซ่ง เฮง” จากร้านที่เคยกว้างขวาง จึงดูแคบไปถนัดตา ด้วยจำนวนลูกค้าเข้ามาเลือกซื้อหากันคับคั่ง ยังกับซื้อผักปลา
เครื่องประกอบการเซ่นไหว้หลัก จำพวกของสด หมู เห็ด เป็ด ไก่ และผลไม้มงคล เช่น ส้ม แก้วมังกร กล้วย สาลี่ ทับทิม ฯลฯ ในปีนี้ ก็ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย แต่อาจจะขยับราคาขึ้นไปได้อีก ยิ่งในช่วงวันจ่ายวันที่ 15 ก.พ. ซึ่งก็เป็นไปตามกลไกปกติ
ครั้นใครจะมองหา ชุดของขวัญมงคล เพื่อมอบให้กับผู้ใหญ่ บุคคลที่นับถือ ก็คงไม่ต้องบรรยายว่าที่เยาวราชนั้นมีทุกสิ่งอย่างครบครัน รังนก หูฉลาม ชาชั้นเลิศ สมุนไพรบำรุงร่างกาย สุรายาดองจีน ฯลฯ ให้เลือกจับจ่ายใช้สอยกันตามอัธยาศัย
ตั้งแต่ช่วงสายยันบ่ายคล้อย ที่เราเตร็ดเตร่อยู่เยาวราช ถามไถ่อาซิ้ม อาซ้อ อาเฮีย ทานอาหาร เครื่องดื่ม ขนมนมเนย และไม่ลืมไปไหว้พระไหว้เจ้าที่ วัดเล่งเน่ยยี่ เพื่อความเป็นสิริมงคล
ขากลับเราเดินลัดเลาะเข้า ตรอกเล่งบ๋วยเอี้ย จากถนนเจริญกรุงทะลุไปถนนเยาวราช เพื่อมายังที่จอดรถ ซึ่งเราได้สัมผัสกับภาพความเจริญของเยาวราชที่รุดหน้าไปอีกขั้น ด้วยโครงการก่อสร้างศูนย์การค้าขนาดกลาง คู่ขนานไปกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีมังกร ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อแก้ปัญหาการจราจรอันพลุกพล่านในย่านนี้
ทันใดนั้นเอง ก็เหลือบไปเห็นสองสิ่งน่าสนใจบนฟุตบาท นั่นก็คือ การปักเย็บชุนผ้า ที่หาได้ยากนักในทุกวันนี้ และอีกหนึ่ง การนวดหน้า กระชุบรูขุมขน ด้วยเส้นด้าย อันเป็นสูตรดูแลผิวหน้าฉบับจีนโบราณ…
สองอาชีพสองกิจการของคนตัวเล็ก ช่วยแต้มแต่งให้เยาวราชยังคงมีเสน่ห์ น่าหลงใหลเหนือกาลเวลาเสมอ.
ที่มา : www.smemestyle.com