ทำ ‘จิวเวลรี่’ อย่างไรให้โดนใจตลาดโลก

3856

ดีไซเนอร์แบรนด์จิวเวลรี่สัญชาติไทยที่โกอินเตอร์ระดับโลกเผยเคล็ดลับความสำเร็จ ผ่านคอลเลกชั่นในแบบฉบับที่ไม่ซ้ำใคร เน้นเล่าที่มาเบื้องหลังการออกแบบชิ้นงานจิวเวลรี่เพื่อดึงดูดลูกค้า

สุรศักดิ์ มณีเสถียรรัตนา เจ้าของแบรนด์ Carletta Jewellery ที่ได้รับความนิยมในหมู่ลูกค้าต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง หรือตะวันออกกลาง เผยว่า การตามเทรนด์ไม่ใช่คำตอบเพียงหนึ่งเดียวในการออกแบบจิวเวลรี่ แต่แบรนด์ต้องใส่ความเป็นตัวตนของตัวเองเข้าไปด้วย

“ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก ทุกคนเสิร์ชกูเกิลเป็นหมด ความสนใจในการเสิร์ชเรื่องใดบ่อยๆ จะเป็นตัวกำหนดเทรนด์กลายๆ ถ้าทุกแบรนด์เดินตามเทรนด์ สินค้าจะเหมือนกันหมด ไม่มีความแตกต่าง การรับรู้เทรนด์โลกเป็นสิ่งที่ดีแต่จะรับมาใช้ทั้งหมดไม่ได้ ต้องนำมาปรับให้เข้าบุคลิกของแบรนด์ ซึ่งดีไซเนอร์ต้องมีแนวทางที่ชัดเจน เพื่อสร้างสรรค์สินค้าให้แตกต่าง ไม่ซ้ำใคร ทุกแบรนด์จำเป็นต้องมีเรื่องเล่า (Story) อย่างแบรนด์ Carletta ทุกคอลเลคชั่นมีเรื่องราว สินค้าทุกชิ้นสามารถเล่าที่มาได้หมด”

เขายกตัวอย่างเช่น แหวนของแบรนด์ Carletta Jewellery ที่ชื่อว่า Only World นั้นทำมาจาก Lapis Lazuli จะมีทั้งประกายสีทอง ฟ้า ขาว อยู่ในเนื้อพลอยที่เป็นทรงกลม เวลาสวมใส่แล้วมองดูราวกับว่าอยู่ในอวกาศแล้วมองกลับมาที่โลกที่มีน้ำทะเลสีฟ้าปกคลุม ตัวเรือนดีไซน์ลักษณะเหมือนอุ้งมือที่กำโลกไว้ เป็นแหวนที่ทำให้ผู้สวมใส่ดูมีอำนาจ ทรงพลัง เป็นการสื่อสารเรื่องราวไปถึงผู้สวมใส่ ซึ่งลูกค้าจะชอบเครื่องประดับที่มีเรื่องราว เล่าต่อได้ และสะท้อนบุคลิกของตนเอง

สำหรับความสำเร็จของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศไทยนั้น คุณสุรศักดิ์กล่าวว่า บุคลากรไทยมีความสามารถสูง แต่อาจมีความเข้าใจผิดว่าตนเองต้องเป็นผู้ผลิต ต้องขายในปริมาณมากๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หากแบรนด์มีจุดแข็งพอ สามารถขายในปริมาณน้อยแต่เจาะถึงกลุ่มตลาด Niche Market โดยมียอดขายไม่แพ้กันได้เช่นกัน นอกจากนี้ การออกงานแสดงสินค้ายังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการได้พบปะลูกค้าใหม่ๆ

“ทางแบรนด์ได้ไปร่วมงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์มาแล้ว 5-6 ครั้ง เห็นได้ว่ากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้เชิญชวนผู้ซื้อรายใหม่ๆ มาตลอด เช่นในครั้งที่ผ่านมามีผู้ซื้อจากแอฟริกาใต้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ โซนพิเศษอย่างเช่น New Faces หรือ The Jeweller ก็เปิดโอกาสให้แบรนด์ใหม่ๆ ได้มาร่วมออกงานมากขึ้นด้วย”

ทางฝั่ง จิตรกานต์ บรรเทิงไพบูลย์ เจ้าของแบรนด์ Jittrakarn และอาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแบรนด์เครื่องประดับ Contemporary ที่มีดีไซน์ Futuristic การนำเสนอผลงานในรูปแบบแฟนตาซีที่สวมใส่ได้จริง ซึ่งชิ้นงานของแบรนด์ Jittrakarn สะดุดตากับ   สไตลิสต์ ดีไซเนอร์ จนได้รับการคัดเลือกเป็นเครื่องประดับที่ใช้เดินแฟชั่นโชว์ รวมถึงมีศิลปิน ดารา นักแสดง หยิบไปใส่ ส่งผลให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมา แบรนด์ Jittrakarn ได้ไปร่วมงานสำคัญระดับโลกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Maison & Objet ที่กรุงปารีส หรือ Milan Design Week ที่เมืองมิลาน และยังได้รับรางวัลด้านการออกแบบมากมาย เช่น รางวัล Demark Gmark และ Red Dot ที่พิสูจน์ถึงความสามารถด้านการออกแบบจิวเวลรี่ที่แปลกใหม่และสวยงาม

“ชาวต่างชาติมองว่าเครื่องประดับที่ผลิตในไทยมีคุณภาพดี เพราะไทยเป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบและโรงงานผลิต ส่วนในการขายจิวเวลรี่นั้น ต้องหาจุดสมดุลระหว่างตัวตนของนักออกแบบกับกลุ่มลูกค้าให้ได้ จึงจะประสบความสำเร็จทางการตลาด ซึ่งแบรนด์ใช้วิธีการผลิตเครื่องประดับชิ้นใหญ่เพื่อสะท้อนตัวตนของแบรนด์ เป็นชิ้นที่คนสนใจ สะดุดตา และมีเครื่องประดับชิ้นเล็ก สวมใส่ง่ายในชีวิตประจำวันวางขาย ซึ่งเป็นชิ้นที่ทำรายได้ให้แบรนด์ ในส่วนของการทำการตลาด เห็นด้วยว่าการร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ เป็นเวทีที่สำคัญในการพบปะลูกค้า ตลอดทั้งการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารแบรนด์กับลูกค้า” คุณจิตรกานต์กล่าว

ทั้งนี้ คุณจิตรกานต์ฝากข้อคิดให้กับแบรนด์ใหม่ๆ ว่า “การสร้างแบรนด์เราต้องหาตัวตนให้ได้ก่อน อย่าเป็นแค่อีกแบรนด์ที่ขายในไอจี ต้องหาจุดเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความเข้าใจเรื่องวัสดุ หรือ passion ของเราเอง”

โดยระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคม 2561 นี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้จัดกิจกรรม Thai Jewelry Training Series 2018 เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ผ่านกิจกรรมสัมมนาที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้ศึกษาข้อมูลแนวโน้มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในด้านต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจเครื่องประดับ อาทิ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค การสร้างแบรนด์ เทคโนโลนีทางการผลิต การตลาดดิจิทัล รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องประดับชั้นนำของไทยและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในการดำเนินธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับในมิติต่างๆ แบบรอบด้าน

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กำหนดจัดงานแสดงอัญมณีและเครื่องประดับ ครั้งที่ 62 หรือ 62nd Bangkok Gems & Jewelry Fair ในระหว่างวันที่ 7-11 กันยายน 2561 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นงานใหญ่ของวงการอัญมณีและเครื่องประดับที่รวบรวมนักธุรกิจ ผู้ซื้อและผู้ขายอัญมณีกว่า 20,000 คน จาก 130 ประเทศทั่วโลก ตลอดทั้งเป็นเวทีที่จะขยายธุรกิจของผู้ประกอบการไทยทั้งขนาดใหญ่ และ SMEs สู่ตลาดโลกอีกด้วย สอบถามข้อมูลและสมัครได้ที่ โทร. 02-507-8392-3 หรืออีเมล์ bkkgems@ditp.go.th ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bkkgems.com