ตลาดอสังหาฯ ปี 64 มีแนวโน้มชะลอตัวท่ามกลาง “สงครามราคา”

826

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย สรุปภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 และแนะแนวโน้มปี 2564 เผยเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายของตลาดอสังหาริมทรัพย์จากหลาย ๆ ปัจจัย ทำให้ตลาดไม่เติบโตเท่าที่ควร ทั้งจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจชะลอตัว และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อบ้านนานขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด พบว่า ผู้บริโภคถึง 75% ชะลอการซื้อบ้านออกไปก่อน

จากการชะลอตัวของตลาดทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้แคมเปญการตลาด ราคา และโปรโมชันต่าง ๆ เพื่อจูงใจผู้ซื้อ ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวมลดต่ำลง แต่เป็นการเร่งการตัดสินใจจากผู้ซื้อที่เป็นกลุ่มเรียลดีมานด์หรือผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงที่มีความต้องการซื้อมาตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ ส่วนกลุ่มดีมานด์ใหม่ยังคงชะลอตัวเนื่องจากส่วนใหญ่ยังคงไม่มั่นใจกับสภาพเศรษฐกิจ และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง

คอนโดมิเนียมยังคงเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนมากที่สุด ขณะที่แนวโน้มโครงการใหม่เริ่มเป็นสินค้าประเภทแนวราบมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค หลังจากที่ใช้ชีวิตอยู่กับบ้านนานขึ้นในช่วงล็อกดาวน์จึงเห็นความสำคัญของการมีพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านที่มากขึ้น

นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า “สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยคาดว่าผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วเมื่อตอนที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในเมืองไทยจนนำไปสู่การล็อกดาวน์ และกิจกรรมทางธุรกิจหยุดชะงัก สำหรับแนวโน้มของตลาดในปี 2564 จะยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากปีนี้ ท่ามกลางการแข่งขันอย่างเข้มข้นของผู้ประกอบการที่แข่งกันลดราคา รวมไปถึงออกโปรโมชั่นแรง ๆ เพื่อจูงใจผู้ซื้อ ส่วนจำนวนโครงการเปิดใหม่นั้นคาดว่าจะมีจำนวนใกล้เคียงกับปี 2563”

“ปี 2564 ถือเป็นปีปรับสมดุลของตลาดอสังหาฯ ทั้งในแง่ของราคาและอุปทาน (จำนวนที่อยู่อาศัย) โดยในส่วนของราคานั้นเริ่มเห็นสัญญาณบวกจากดัชนีราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2563 และคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 อย่างไรก็ดี แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดอสังหาฯ นั้นจะขึ้นอยู่กับตัวแปรสำคัญ ๆ ได้แก่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพการเมือง รวมถึงการมีมาตรการจากภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ หรือให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น” นางกมลภัทร กล่าวสรุป